การตรวจวัดความดันโลหิตในสัตว์เล็ก

ความดันโลหิตจากหลอดเลือดแดง (Systemic arterial blood pressure) เราสามารถวัดได้จากการบีบตัวของหัวใจ หรือจากการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือด และรวมถึงการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดตามกล้ามเนื้อ

ความดันโลหิตจะทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปพร้อมกับเลือดเพื่อไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกาย  ซึ่งเราสามารถวัด และตรวจสอบค่าความดันเลือดในสัตว์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางหัวใจ หลอดเลือด  เพื่อประเมินสภาพ และสามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้

 

Arterial circulatory system of the dog

การตรวจวัดความดันโลหิตเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัย และการรักษาของสัตว์เล็ก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาลสัตว์จะต้องมีความรู้ในการตรวจวัดความดันโลหิต  เพื่อช่วยในการรักษา  โดยจะต้องเรียนรู้ถึง

     - ทักษะ และเทคนิคในการประเมินความดันโลหิตได้อย่างถูกต้อง

     - มีความเข้าใจข้อดี และข้อเสียของเทคนิคการในการตรวจวัดความดันโลหิต จากวิธีการตรวจแต่ละวิธีที่แตกต่างกัน

     - จำ และรู้ค่าที่ผิดปกติ และสามารถทำความเข้าใจกับค่าที่ผิดปกติ และแก้ปัญหาได้

     - ในกรณีของเจ้าหน้าที่พยาบาลควรรู้ว่าเมื่อใดที่ค่าผิดปกติ  ควรจะแจ้งเตือนแพทย์ที่เป็นเจ้าของเคส  เพื่อทำการรักษา

 

บทความชุดนี้กล่าวถึงรายละเอียดทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการวัดความดันโลหิต รวมถึงค่าความดันโลหิตปกติสำหรับสัตว์เล็ก และสิ่งที่บ่งชี้ถึงความดันโลหิตที่ผิดปกติในสัตว์เล็ก

คำจำกัดความของความดันโลหิต

            ค่าความดันโลหิต ค่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องล้างซ้าย (Left ventricle) ทำการบีบตัว เลือดที่อยู่ในหัวใจห้องล้างซ้ายนี้จะถูกดันเข้าสู้หลอดเลือดแดงใหญ่ (Arota) ทำให้เกิดความดันโลหิตที่เรียกว่า Systolic arterial pressure (SAP)  หลังจากนั้นหัวในห้องล่างซ้ายก็จะทำการคลายตัวเพื่อเติมเลือดเข้ามาให้ห้อง และทำการบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปอีกครั้ง  ช่วงที่หัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัวความดันโลหิตจะลดลงทำให้เกิดความดันโลหิตที่เรียกว่า Diastolic arterial pressure (DAP)  ซึ่งค่าเฉลี่ยความดันโลหิต หรือ Mean arterial pressure (MAP) สามารถคำนวณได้จากค่า SAP และ DAP ตามสูตร MAP = DAP + 1/3 (SAP – DAP)


 

วิธีการตรวจวัดค่าความดันโลหิต  

ความดันโลหิตสามารถทำการวัดได้ 2 วิธี คือ

1.  การตรวจวัดความดันโลหิตโดยตรง (Direct arterial blood pressure monitoring) เป็นการวัดความดันโลหิตที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน และถูกต้องแม่นยำ โดยจะใช้ Arterial Catheter สอดเข้าเส้นเลือดแดง และต่อกับอุปกรณ์วัดความดัน เช่น Aneroid Manometer หรือตัวแปลงสัญญาณ (Transducer)  โดยสามารถวัดได้ทั้งค่า SAP, DAP และ MAP (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 : แสดงการวัดความดันโลหิตโดยตรง โดยใช้ Arterial Catheter สอดเข้าไปยัง Dorsal Pedal Artery จากนั้น Catheter จะต่อเข้ากับ Pressure Transducer  ซึ่งจะมีถุงลมคอยรักษาความดันในระบบไว้ให้มากกว่าความดันเลือด SAP

2.  การตรวจวัดความดันโลหิตทางอ้อม (Indirect arterial blood pressure monitoring)  เป็นการวัดความดันโลหิต  โดยอาศัยการตรวจจับการไหลของเลือด หรือการเคลื่อนไหวของผนังหลอดเลือดในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย  โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Doppler (รูปที่ 2) หรือ Oscillometer

รูปที่ 2 : แสดงการวัดความดันโลหิต โดยใช้เครื่อง Doppler


 

การวัดความดันโลหิตจำเป็นในกรณีใดบ้าง

การวัดความดันโลหิตจำเป็นในกรณีดังนี้

   - ในระหว่างการดมยาสลบสัตว์  เมื่อทางสัตวแพทย์ประเมินได้ว่าสัตว์ที่วางยาจะมีผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด  จากการได้รับผลกระทบของยาชา หรือยาสลบ  ขณะที่ทำการผ่าตัด

   - ในภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะวิกฤตของสัตว์  ที่จะส่งผลให้ระบบหัวใน และหลอดเลือดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

   - ในทางการรักษาทั่วไป เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าสัตว์ในสภาวะนั้นมีความดันโลหิตปกติ หรือไม่

   - ในสัตว์ป่วยที่ทางสัตวแพทย์สงสัยว่า  สัตว์ป่วยนั้นมีภาวะความดันสูง (Hypertension) หรือ ความดันต่ำ (Hypotension) ซึ่งเกิดจากโรค หรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ

ค่าความดันโลหิตปกติ

ค่าความดันโลหิตปกติในสัตว์  เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ  ซึ่งจะแสดงถึงสถานะการทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด ในสภาวะปกติของสัตว์  และสามารถนำไปชี้แจงอ้างอิงเปรียบเทียบกับค่าความดันโลหิตของสัตว์ในสภาวะผิดปกติได้  ดังตารางด้านล่างนี้แสดงค่าความดันโลหิตปกติในสุนัข และแมว

 

ภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)

ภาวะความดันโลหิตต่ำ  จะแสดงให้เห็นถึงค่าความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ  โดยภาวะความดันโลหิตต่ำจะส่งผลให้เลือดที่ถูกบีบตัวจากหัวใจส่งไปเลี้ยงเนื้อเยื่อน้อยลง และอาจส่งผลให้อวัยวะที่สำคัญขาดเลือดได้ สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำแสดงได้ดังตาราง

     -  การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตต่ำ

การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถสังเกตได้จากสภาวะ ณ ปัจจุบันของสัตว์ป่วย หรือทำการวัดความดันโลหิต 

โดยในสุนัข และแมว สามารถใช้ค่า MAP หรือค่า SAP เป็นค่าในการวินิจฉัยว่าสัตว์ป่วย ณ ขณะนั้นอยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือไม่  โดยสัตว์ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำนั้นจะมีค่า MAP < 60 mm Hg และ/หรือค่า SAP < 90 ถึง 100 mm Hg

การวัด และอ่านความดันโลหิตของสัตว์ป่วยที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำ  ควรจะทำการวัดค่า และติดตามอย่างใกล้ชิด  รวมถึงสัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลต้องสังเกตอาการของสัตว์ป่วย ณ ขณะนั้นควบคู่ไปด้วย

      -  การเฝ้าระวังสัตว์ป่วยที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำ

สัตว์ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำควรจะทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และตรวจเช็คสภาวะของระบบหัวใจ และหลอดเลือดอย่างน้อยทุก ๆ 30 นาที. เพื่อประเมินว่าการรักษา ณ ขณะได้ผลดี หรือจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติมถ้าจำเป็น

สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงเสมอคือ สภาวะของระบบหัวใจ และหลอดเลือดของสัตว์ป่วยสามารถ

ทำงานลดลงได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งถ้าค่า MAP ลดลงต่ำกว่า 65 mm Hg จะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ไตลดลง ทำให้สัตว์ป่วยมีภาวะปัสสาวะลดลงตามมา เพราะจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง

 

ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ภาวะความดันโลหิตสูงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ กับ ภาวะความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ

    - ภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (Primary Hypertension) เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการเต้นของหัวใจ และความต้านทานในหลอดเลือด โดยไม่สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริงได้  หรือเรียกอีกอย่างว่า Idiopathic Hypertension ซึ่งพบได้ยากในสัตว์เล็ก  โดยการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงในกลุ่มนี้จะทำโดยการตรวจวัด และอ่านค่าความดันโลหิตที่แสดงถึงความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ควบคู่ไปกับการตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดที่ , ค่าชีวะเคมีของเลือด และซีรั่ม  รวมถึงการตรวจปัสสาวะ

   -  ภาวะความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary Hypertension) เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดแทรกซ้อนจากการที่สัตว์ป่วยเป็นโรค  ซึ่งโรคที่ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิแสดงได้ดังตาราง

หรือสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่สัตว์ป่วยได้รับการรักษาจากยาในกลุ่ม Glucocorticoids, Mineralocorticoids, Erythropoietin, Sodium Chloride, Phenylpropanolamine และกลุ่มยาต้านการอักเสบที่เป็น Nonsteroidal

การวินิจฉัยสัตว์ป่วยในภาวะความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องทำการวัดความดันโลหิต  โดยวัด 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งที่มีการตรวจวินิจฉัย  ซึ่งค่าที่ได้ทั้ง 3 ครั้งจะต้องสอดคล้องกัน  โดยค่าความดันโลหิตสูงในสุนัข และแมว คือ สุนัข SAP / DAP> 150/95 mm Hg  และแมว: SAP> 150 mm Hg

สัตว์ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตา, หู, สมอง และไต  ซึ่งภาวะฉุกเฉินจากความดันโลหิตสูงจะเกิดขึ้นเมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นจนทำลายอวัยวะ หรือหลอดเลือดต่าง ๆ เช่น เลือดออกในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการทางประสาท หรือเลือดออกในตา ส่งผลให้เกิดอาการตาบอด เป็นต้น

การเฝ้าระวังสัตว์ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง  จำเป็นที่สัตว์ป่วยจะต้องทำการตรวจวัด และอ่านค่าความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง


 

การคำนวน การวัด และการอ่านค่าความดันโลหิตอย่างถูกต้อง

      สถานการณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ทำการวัดความดันโลหิตสัตว์ป่วย  ไม่ว่าจะเป็นความเครียด และความวิตกกังวลทั้งของตัวสัตว์ป่วย สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาล  รวมถึงความเร่งรีบในระหว่างการตรวจรักษา หรือการใช้เครื่องมือเพื่อทำการตรวจวัดค่าความดันโลหิตอย่างผิดวิธี  อาจจะส่งผลให้ผลการตรวจความดันที่ได้ออกมามีค่าความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง  ซึ่งทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้  เพราะฉะนั้นควรที่จะดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เพื่อให้ผลที่ได้จากการวัดค่าความดันโลหิตถูกต้อง และแม่นยำ

     1. ก่อนการวัดความดันโลหิตสัตว์ป่วย  ตัวสัตว์ควรอยู่ภายในห้องตรวจที่เงียบสงบก่อนทำการตรวจ 5 – 10 นาที

     2. การวัดความดันโลหิตจะทำได้หลังจากที่สัตว์ป่วยมีสภาวะที่สงบพร้อมจะทำการตรวจได้แล้ว

     3.  ควรบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจร่วมด้วยในขณะที่ทำการวัดความดันโลหิต  ในกรณีที่สัตว์ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงจากอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น (Tachycardia) จะพิจารณาว่าสัตว์ป่วยนั้นมีภาวะความดันโลหิตสูงแบบ White coat hypertension

การลดความผิดพลาดจากการวินิจฉัยความดันโลหิตสูงในสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่ตื่นกลัว ควรจะต้องพิจารณาถึงสภาวะการตอบสนองของสัตว์ป่วย ณ ขณะที่ทำการตรวจร่วมด้วย  ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อน และความอดทนของทั้งสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาล การลดความผิดพลาดจากการตรวจวัดความดันโลหิตสามารถทำได้ดังนี้

      - จัดหาสถานที่ และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เงียบสงบ และสะดวกสบาย และพูดคุยกับสัตว์ป่วย เพื่อให้สัตว์ป่วยรู้สึกสบายใจ และไว้วางใจ

      - นำสัตว์ป่วยเข้าไปในห้องที่เงียบ อาจจะใช้กรง หรือกล่อง หรือกระเป่าให้สัตว์ป่วยเข้าไปอยู่  เพื่อให้รู้สึกสบายใจ (โดยเฉพาะแมว) หรืออาจจะมีของเล่นสำหรับสุนัขให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนทำการตรวจ

      -  ในกรณีที่สามารถทำการวัดความดันโลหิตได้แล้วให้ทำการวัดความดันโลหิตต่อไปจนครบ 3 ครั้งเพื่อดูค่าเฉลี่ย  จากนั้นพิจารณาการทำการตรวจวัดความดันโลหิตซ้ำในภายหลังเมื่อสัตว์ป่วยผ่อนคลายมากขึ้นแล้ว

บทความโดย 

น.สพ. พุทธาพงศ์ เกียรติธรรมลาภ


ข้อมูลอ้างอิง

https://todaysveterinarypractice.com/todays-technician-blood-pressure-monitoring-from-a-nursing-perspective-part-2-blood-pressure-monitoring-techniques/

ภาพประกอบ

https://www.baanlaesuan.com/161934/pets/health/systemic-hypertension/2

https://todaysveterinarypractice.com/todays-technician-blood-pressure-monitoring-from-a-nursing-perspective-part-2-blood-pressure-monitoring-techniques/

 

Share this entry