การเลือกท่อสอดหลอดลมและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย
Endotracheal intubation การเลือกท่อสอดหลอดลมและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย
ขนาดของท่อ Endotracheal tube (ET tube) จะหมายถึง internal diameter (millimetres) โดยขนาดที่นิยมใช้จะเริ่มตั้งแต่ 3.0mm ในแมว จนถึง 16.0mm ในสุนัขขนาดใหญ่ โดยควรเลือก
- ขนาดที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ larynx และเนื้อเยื่อรอบๆ
- เลือกใช้ ET tube ที่มี cuff
- เตรียมขนาดที่เหมาะสมไว้ประมาณ 2-3 ขนาด(ต่างกัน 0.5) เผื่อว่าสัตว์เลี้ยงมีความผิดปกติของหลอดลม เช่น บวม อักเสบ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นขนาดที่เหมาะสมได้ทันที
- เริ่มสอดจากท่อที่ใหญ่ที่สุดก่อน หากไม่ได้ค่อยเปลี่ยนเป็นขนาดที่เล็กกว่า
ขนาดของ Endotracheal tube ที่แนะนำตามน้ำหนักตัวของสุนัขและแมว
สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะทำการสอดท่อ ET tube
1. เลือกขนาดให้เหมาะสม ทั้งขนาดของท่อและความยาวของท่อ
ขนาดของท่อ ET tube แบบไม่รวม cuff จะต้องพอดีกับขนาดของหลอดลมและเมื่ออัดลมเข้าไปแล้ว cuff จะทำให้ท่อนั้นปิดทางผ่านของลมได้พอดี
ความยาวของท่อ ET tube จะต้องพอดีกับระยะของ bronchial bifurcation ระหว่าง canine teeth ซึ่งเราสามารถตัดความยาวของท่อแบบ PVC ออกได้ (โดยระวังอย่าตัดท่อสำหรับ cuff) การตัดให้พอดีจะช่วยป้องกันไม่ให้ความยาวของท่อเคลื่อนลงไปผ่าน bifurcation แล้วทำให้อากาศเข้าได้เพียงฝั่งเดียวของปอด และช่วยลด dead space ได้อีกด้วย
Tip:ประมาณขนาดของท่อที่จะใช้ด้วยการวัดกับปลายจมูกของสัตว์เลี้ยง (nares of the nose) ซึ่งไม่ได้แม่นยำ 100% แต่ก็เพียงพอให้เราเตรียมท่อที่มีขนาดใกล้เคียงกันไว้ 2-3 ขนาดก่อนเริ่มทำ intubation
2. ทดสอบ cuff ก่อนใช้งาน
ก่อนการใช้งาน ET tube ให้ทดสอบอัดลม cuff ให้เต็มที่แล้วทิ้งไว้ในประมาณ 30 นาที เพื่อทดสอบว่ามีการเล็ดลอดของลมออกหรือไม่(บางครั้ง การเล็ดลอดจะช้ามากๆ จึงควรทิ้งไว้ระยะนึงก่อน) และควรทดสอบความเหมาะสมของลมใน cuff ทุกๆ 30 นาทีขณะทำการวางยาสลบ เพราะบางครั้งขนาดของหลอดลมจะเปลี่ยนไปเนื่องจากผลของยาสลบที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ
Tip: เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบปริมาณของแรงดันอากาศใน cuff ที่เหมาะสม สามารถใช้ commercial manometer (AG Cufil) เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะปริมาณของลมสร้างแรงดันใน cuff ได้เพียงพออยู่เสมอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
3. ใช้สารหล่อลื่นกับ cuff
water-soluble lubricant จะช่วยให้สอดท่อ ET tube ได้ง่ายขึ้นและลด trauma ที่จะเกิดขึ้นขณะทำงานได้ด๊
Tip: แนะนำให้ใช้ sterile lubricant ที่บรรจุในซองแยกสำหรับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวเพื่อป้องกันปัญหาสะสมแบคทีเรีย
4. ระดับความลึกของการวางยาสลบ
ระดับความลึกของการสลบที่เหมาะสมในการทำงานคือ เมื่อสัตว์ไม่มี gag reflex แล้ว โดยให้สัตว์เลี้ยงนอนคว่ำหรือตะแคงข้างก่อนจะให้ผู้ช่วยช่วยเปิดปากของสัตว์เลี้ยงและช่วยประคองหัวของสัตว์ไว้ การใช้ laryngoscope จะช่วยให้มองเห็นพื้นที่และทำงานได้ง่ายขึ้น
Tip: ในแมว ให้ใช้ topical local anaesthetic (เช่น Lidocain spray) พ่นบริเวณ larynx ก่อนที่จะทำการสอดท่อสัก 60-90 วินาที จะช่วยลดโอกาสการเกิด laryngeal spasm ได้ ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะเป็นภาวะวิกฤตที่แมวจะไม่สามารถหายใจได้เอง
5. ยึดปลายท่อ endotracheal tube (ET tube) ให้อยู่ในตำแหน่งที่มั่นคง
เพื่อยึดไม่ให้ปลายท่อ ET tube เคลื่อนจากตำแหน่ง bifurcation ที่เราต้องการ ให้ใช้ผ้าหรือวัสดุใดๆมัดรอบท่อไว้โดยระวังอย่าไปรัดส่วนของท่อที่ใช้อัดลม cuff แล้วจึงมัดยึดไว้กับบริเวณหัวของสัตว์เลี้ยง
- ในสุนัขสายพันธุ์ dolichocephalic หรือ mesocephalic ให้มัดท่อ ET tube ไว้ที่บริเวณด้านหลัง canine teeth แล้วจึงไปผูกไว้บนจมูก โดยระวังอย่ามัดแน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอาการบวมจากการปิดกั้นระบบไหลเวียนเลือด
- ในแมวและสุนัขสายพันธุ์ brachycephalic ให้ผูกท่อไว้ที่ด้านในสุดของช่องปาก(ไม่ใช่ที่ canine teeth) แล้วไปผูกต่อไว้ด้านหลังของหัวสัตว์เลี้ยง
Tip: อย่าใช้วัสดุผูกมัดท่อที่เป็น elastic เพราะอาจจะทำให้รัดแน่นจนปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่รอบจมูก และมีโอกาสที่จะมัด “แน่นเกินไป” ได้ง่าย
6. เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องดมยาสลบ
เมื่อยึดท่อ ET tube ไว้มั่นคงดีแล้ว ให้เชื่อมท่อเข้ากับ anaesthetic circuit และเริ่มเปิด oxygen flow rate ที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย(ประมาณ 2-4ลิตร/นาที) เพื่อช่วยกระตุ้นให้บริเวณแลกเปลี่ยนอากาศในปอดที่มีขนาดเล็กทำงาน แล้วจึงค่อยปรับลงมาเป็น flow rate ที่คำนวนจากน้ำหนักสัตว์ตามปกติ ถัดจากนั้นจึงอัดลมเข้าสู่ cuff เพื่อปิดช่องทางเดินอากาศ
Tip: ในช่วงที่กำลังจะต่อท่อ ET tube เข้ากับ anaesthetic circuit อย่าเพิ่งเปิด vapourizer เพราะจะทำให้อากาศในห้องปนเปื้อนยาดมสลบไปด้วย
7. อัดลมเข้าสู่ cuff เพ่อปิดช่องทางเดินอากาศ
โดยปกติ เราจะใช้ไซริงค์เพื่ออัดลมเข้าสู่ cuff ที่อยู่ใน trachea โดยจะมี valve pillow ที่อยู่ด้านนอกตัวสัตว์ป่องออกให้เราสังเกตุได้ว่ามีแรงดันเกิดขึ้นภายใน แต่ แรงดันใน cuff กับ ขนาดของ valve pillow ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันที่สามารถบอกเราได้ว่าปริมาณอากาศที่เราใส่เข้าไปเพื่อสร้างแรงดันนั้น เพียงพอ น้อยไป หรือมากเกินไปจนอาจเกิดอันตราย ต่อเนื้อเยื้อรอบๆ cuff ได้
ปริมาณอากาศที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไประหว่าง สัตว์แต่ละตัว ขนาดของท่อที่เลือกใช้และตัว cuff เอง ซึ่งการพิจารณาปริมาณที่เหมาะสม แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
- ปิด pop-off valve ของเครื่อง anaesthetic circuit หรือ หากใช้ระบบ non-rebreathing ก็ให้ปิดกั้นที่ scavenger
- ให้ผู้ช่วยบีบ Rebreathing bag(หรืออาจใช้ Ambu bag) ให้อากาศไหลเข้าสู่ตัวสัตว์ โดยให้นับ 1-2-3 แล้วบีบอากาศเพื่อให้สัตวแพทย์เตรียมตัวสังเกตุ (ปริมาณอากาศที่ใช้ไม่ควรเกิน 18-20 cmH2O)
- สัตวแพทย์ค่อยๆดันไซริงค์เพื่อเติมอากาศเข้าสู่ cuff ช้าๆจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงของอากาศลอดผ่านออกมา (ใช้หูฟังเสียงลมใกล้ๆกับปากของสัตว์เลี้ยง)
- เมื่อเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยเริ่มเปิด vapourizer ซึ่งทางเดินอากาศที่เหลือรอบ ET tube จะถูกปิดกั้นและอากาศพร้อมยาสลบส่วนที่เหลือจะถูกส่งออกไปทาง scavenger
Tip: ในการวัดปริมาณของอากาศที่เหมาะสม สามารถใช้ AG cufil ที่เป็น commercial manometer เพื่อช่วยคำนวนปริมาณอากาศที่เหมาะสมใน cuff โดยจะช่วยให้ได้ปริมาณที่เพียงพอจะปิดกั้นทางเดินอากาศและไม่มากเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อหลอดลมเสียหายจากการขาดเลือด
.................
ขอบคุณ
https://www.yumpu.com/en/document/read/11287418/anesthesia-cheat-sheet
https://vetnurse.com.au/2018/03/07/endotracheal-intubation/
.................
เรียบเรียงโดย
สพ.ญ.พิชญาภา ชมแก้ว
.................
#เครื่องมือสัตวแพทย์ #คลินิกสัตวแพทย์ #โรงพยาบาลสัตว์ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง #อุปกรณ์สัตวแพทย์ #BEC #becvet #BECpremium
Share this entry