ดูแลอุปกรณ์ผ่าตัดสแตนเลสได้..ไม่ยากอย่างที่คิด

สแตนเลส (stainless) เป็นชื่อเรียกของโลหะผสมที่มีคุณสมบัติที่ยากต่อการถูกกัดกร่อน และยากต่อการเกิดสนิม โดยชนิดของสแตนเลสนั้นมีมากมาย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่แตกต่างกันของของสารที่ผสม โดยเฉพาะโครเมียม(อย่างน้อย10%)และนิกเกิ้ลที่ผสมลงไปกับเหล็ก เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ทนทานต่อการกัดกร่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าอุปกรณ์สแตนเลสจะไม่มีวันเป็นสนิม หากเราไม่ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสที่อุปกรณ์จะเกิดความเสียหายได้

การป้องกันการเกิดสนิมของสแตนเลส เกิดจากการที่ส่วนของโครเมียมทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศเกิดเป็นชั้นโครเมียมออกไซด์ (passive layer) มาเคลือบบริเวณผิวอุปกรณ์

 

คราบที่เกิดขึ้นบนอุปกรณ์สแตนเลส

1. คราบจากสารอินทรีย์ เช่น คราบเลือด โปรตีน ฯลฯ

สาเหตุ

      - ไม่ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ทันที หรือทำความสะอาดไม่ดีพอแล้วนำไปฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง ทำให้คราบแห้งกรังติดแน่น

การแก้ไข

     - ขัดเฉพาะจุดด้วยมือ หรือล้างใหม่ด้วยเครื่อง Ultrasonic

     - ใช้ 3%ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (นาน 5 นาที)

2. คราบการผุกร่อน (pitting corrosion)

สาเหตุ

       - มักเกิดกับเครื่องมือสัมผัสกับธาตุในกลุ่มอโลหะ เช่น ฟลูออรีน , คลอรีน , โบรมีน , ไอโอดีน

      - แช่เครื่องมือในนํ้าที่มีคลอรีน หรือน้ำยาที่มีไอโอดีน

การแก้ไข

     - ใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีนในการล้างเครื่องมือ หรือหากเครื่องมือจำเป็นต้องสัมผัสกับสารที่มีธาตุดังกล่าว หลังใช้งานควรรีบทำความสะอาดทันที

      - เลือกซื้อสแตนเลสที่ทนการกัดกร่อนของคลอรีน

3. คราบน้ำ (water spots)

สาเหตุ

      - เกิดจากการนำนํ้ากระด้างหรือน้ำที่มีแร่ธาตุสูงมาล้างเครื่องมือ 

การแก้ไข

     - ถ้าเป็นไปได้ ใช้น้ำที่ไม่มีแร่ธาตุมาล้างเครื่องมือ

     - หลีกเลี่ยงการมีน้ำเกาะบนเครื่องมือ อาจวางผึ่งในแนวตั้ง หรือรีบเช็ดให้แห้ง

4. คราบสีรุ้ง (contact corrosion)

สาเหตุ

      - เกิดจากการที่อุปกรณ์ไปสัมผัสกับวัสดุที่ไม่ใช่สแตนเลส หรือมีตกค้างของน้ำยาทำความสะอาด

การแก้ไข

     - ใช้ความเข้มข้นของน้ำยาที่พอดีและล้างน้ำยาออกให้หมด

     - ใช้ ภาชนะสแตนเลสในการบรรจุเครื่องมือ

5. คราบบริเวณข้อต่อ (Fretting and crevice corrosion)

สาเหตุ

      - มีความชื้นหรือคราบสกปรกตกค้างบริเวณรอยต่อ ทำใหออกซิเจนเข้าไม่ถึง ทำลายแผ่นฟิลม์ที่โครเมียมออกไซด์

การแก้ไข

     - ล้างบริเวณรอยต่อให้สะอาด และเช็ดให้แห้งสนิท

     - ใช้ น้ำยาหล่อลื่นสำหรับเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะ (หรือพาราฟินเหลวทางการแพทย์) หยอดพ่นบริเวณจุดหมุนหลังล้างทำความสะอาดแล้ว

6. รอยหักร้าว (Stress corrosion crack)

สาเหตุ

       - เกิดเจากการแช่เครื่องมือในน้ำยาที่มีความเข้มข้นสูงนานๆ 

        - การนึ่งเครื่องมือที่ Clamp ไว้

      - มีความชื้นในซอกเครื่องมือ เกิดการสึกกร่อนภายใน

การแก้ไข

     - อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องปลดล้อคก่อนนำเข้าออโตเคลป

      - เครื่องมือต้องแห้งก่อนนำไปจัดเก็บ

ข้อควรระวังในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือด้วยเครื่องออโตเคลป

1. Cleaning

   - หมายถึง การขจัดอินทรียสาร สิ่งสกปรก ฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ออกจากอุปกรณ์

   - การล้างอุปกรณ์ควรทำในบริเวณที่จัดไว้สำหรับล้างอุปกรณ์โดยเฉพาะ และผู้ปฏิบัติจะต้องสวมเครื่องป้องกัน ได้แก่ ถุงมือยางอย่างหนา ผ้าปิดปากและจมูก เป็นต้น และควรใช้ความระมัดระวังในการล้างเครื่องมือที่มีคม

   - แนะนำให้ทำความสะอาดเครื่องมือทันทีหลังจากใช้เสร็จ เพื่อป้องกันการติดแน่นของคราบเลือดและคราบสกปรก

   - อย่าลืมปลดล้อคอุปกรณ์ เช่น artery forceps ในระหว่างการล้าง

   - ไม่ควรใช้ แปรงโลหะ ฝอยขัดที่เป็นโลหะ ในการนำมาขัดล้างเครื่องมือ

   - ควรใช้น้ำยาสำหรับล้างเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะ โดยไม่ควรใช้น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาซักผ้าในการล้างอุปกรณ์ เนื่องจากสารเคมีและ pH ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการกัดกร่อนเครื่องมือได้

2. Rinsing

   - การใช้น้ำสะอาดไหลผ่านอุปกรณ์หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำยาแล้ว

   - ล้างน้ำให้ทั่วถึงภายหลังการล้างทำความสะอาด ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้น้ำที่ปราศจากการเจือปนของแร่ธาตุ หรือล้างน้ำสุดท้ายด้วยน้ำกลั่น เพราะการใช้น้ำประปาจะมีคลอรีนซึ่งอาจทำให้เกิดการสึกกร่อนหรือเกิดคราบบนเครื่องมือได้

3. Drying

   - ควรใช้ผ้านุ่มๆซับน้ำออกจากอุปกรณ์ทันทีหลังจากล้างเสร็จ และต้องมั่นใจว่าเครื่องมือแห้งสนิทจริงๆก่อนนำไปทำการฆ่าเชื้อ

4. Sterilization

   - การจัดวางห่ออุปกรณ์จะต้องไม่ให้ห่ออุปกรณ์สัมผัสกับผนังด้านใน พื้น หรือเพดานของช่องอบ วางหลวมๆ ไม่ติดกัน เพื่อให้ไอน้ำไหลเวียนและผ่านเข้าไปในห่ออุปกรณ์ได้สะดวก

   - อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องปลดล้อคก่อนนำเข้าออโตเคลป เพื่อป้องกันการเกิดรอยแตกร้าวตรงบริเวณข้อต่อ

5. Drying/Storage

   - เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนกาทำให้ปราศจากเชื้อ ควรนำห่ออุปกรณ์ไปไว้ในบริเวณที่ไม่มีคนพลุกพล่าน

   - ไม่ควรนำรถอุปกรณ์ไว้ในบริเวณที่มีลมพัดผ่านหรือไว้ใกล้พัดลม

   - ไม่ควรจับต้องห่ออุปกรณ์ในขณะที่ห่ออุปกรณ์ยังร้อนจะสามารถดูดซึมความชื้นได้เร็ว และเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่บนมืออาจจะเข้าไปในห่ออุปกรณ์ได้

   - เมื่ออุปกรณ์เย็นลงแล้ว ควรตรวจสอบห่ออุปกรณ์ดูว่ามีการฉีกขาดหลุดลุ่ยเปียกชื้นหรือไม่ เมื่อจะนำห่ออุปกรณ์บรรจุลงใน ควรตรวจดูว่าออโตเคลปเทปที่ติดบนห่ออุปกรณ์เปลี่ยนสีสม่ำเสมอหรือไม่ หากเทปไม่เปลี่ยนสี หรือเปลี่ยนสีไม่สม่ำเสมอ แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้น

 

บทความโดย

สพ.ญ สุรดา วัชรพงศ์ปรีชา


เอกสารอ้างอิง

http://www.cssd-gotoknow.org/

http://www.ydm.co.jp/en-new/pdf/The_process_of_cleaning_and_sterilizing.pdf

https://www.aesculapusa.com/services/resource-center/product-articles/diagnosing-and-treating-six-types-of-instrument-discoloration

http://vet.shoof.co.nz/docs/instrumets_clean_main_&_ident.pdf

http://www.petvetbiomed.com/html5/web/10200/13095ImageFile3.pdf

http://www.westchem.ca/products/stainless-steel-pickling-and-passivation/

...............................................

#BEC  #becvet #เครื่องมือสัตวแพทย์  #อุปกรณ์สัตวแพทย์ 


Share this entry