เมื่อ E-Collar (ปลอกคอกันเลีย) แบบ original กลายเป็น “cone of shame”

จากภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังเรื่อง Up ในปี 2009 มีเรื่องราวของ E-collar(ปลอกคอกันเลีย) ซึ่งถูกใส่โดยสุนัขพันธุ์ golden retriever ที่ชื่อว่า Dug 

โดย Dug จะต้องใส่ E-collar เมื่อถูกลงโทษเวลาที่ทำผิด ทำให้ E-collar ถูกเรียกว่า “cone of shame” อย่างแพร่หลายนับตั้งแต่นั้นมา อาจเป็นเพราะความรู้สึกของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเอง ที่เห็นด้วยว่าการใส่ E-collar เปรียบเสมือนการทำโทษสัตว์เลี้ยงของตนเอง เนื่องจากสัตว์เลี้ยงบางตัว จะแสดงอาการไม่สบายตัว หรือเคลื่อนไหว รวมทั้งกินอาหารไม่สะดวกเวลาที่ถูกใส่ E-collar

E-collar ย่อมาจาก Elizabethan collar จากลักษณะที่คล้ายคอเสื้อที่ถูกยกให้สูงและพับเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า Ruff ซึ่งเป็นรูปแบบการแต่งกายที่นิยมของชนชั้นสูงในสมัยของพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 1

หรือบางครั้งถูกเรียกว่า Buster collar เนื่องมาจากชื่อของหุ่นสุนัขที่ใส่ collar โชว์ภายในบู้ทของบริษัท KRUUSE ในงาน international agricultural exhibition ที่กรุงปารีส เมื่อปี 1973 นับเป็นครั้งแรกของการเปิดตัว collar ให้ได้เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีปลอกคอกันเลียรูปแบบต่างๆถูกผลิตขึ้นมาอย่างมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น แบบที่เป็นผ้า แบบเป่าลม แบบแบน เป็นต้น เพื่อให้น้องหมาน้องแมวรู้สึกสบายตัว และลดความเครียดเมื่อสวมใส่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากความฉลาดแสนรู้และแสนซนของสัตว์เลี้ยงบ้านเรา E-collar แบบดั้งเดิมจึงยังมักจะถูกสั่งจ่ายจากสัตวแพทย์ เพื่อหวังผลในการป้องกันการเลียบริเวณบาดแผลที่ลำตัว ป้องกันการกัดแทะผ้าพันแผล หรือแทะเฝือกที่ขา ป้องกันการเลียแผลหลังจากการผ่าตัด รวมถึงป้องกันการเกาบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแผลบริเวณตาและหู

เมื่อจำเป็นต้องใช้ “cone of shame” ที่น้องหมาน้องแมวอาจจะไม่ชอบ..แต่สัตวแพทย์ชอบ เรามีเทคนิคดีๆ มาฝากกันค่ะ

1. เจ้าของต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง อย่าคิดว่าการใส่ collar เป็นการทรมานพวกเค้านะคะ เพราะการสงสารแล้วแอบถอด collar ออกอาจจะส่งผลเสียตามมามากมาย เช่น แผลอักเสบ ติดเชื้อ ฉีกขาดมากกว่าเดิม ต้องเสียค่ารักษาและเวลาเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นควรแข็งใจใส่ collar ให้สัตว์เลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมงถ้าเป็นไปได้ ระยะเวลาการใส่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการหายของแผลตามที่สัตวแพทย์แนะนำ โดยส่วนใหญ่จะต้องใส่ collar อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

ขั้นตอนในการเริ่มต้นใส่ collar

- นำ collar มาโชว์ด้านหน้าสัตว์เลี้ยง โดยหันด้านกว้างเข้าหาสัตว์เลี้ยง เมื่อเขาทำท่าสนใจ โดยการดมหรือยื่นหน้าเข้ามาใน collar สามารถให้รางวัลโดยการชมเชยหรือให้ขนม ถ้าบางตัวกลัวยังไม่กล้า อาจลองให้ขนมโดยยื่นผ่าน collar  จนกว่าเขาจะกล้ายื่นหน้าเข้ามาใน collar

- หลังจากที่สัตว์เลี้ยงเริ่มชิน เราก็เริ่มต้นใส่ collar โดยขนาดความกว้างของ collar ควรจะเลยส่วนปลายจมูกของสัตว์เลี้ยงมาประมาณ 2-3 นิ้ว ให้ป้องกันการเลีย แต่สัตว์เลี้ยงยังสามารถกินน้ำและอาหารในชามได้ สำหรับความกระชับบริเวณรอบคอ ควรแน่นพอที่สัตว์เลี้ยงจะไม่สามารถถอด collar ออกได้ แต่อย่าแน่นไปจนรู้สึกไม่สบาย กะประมาณความกระชับโดยที่เจ้าของยังสามารถสอดนิ้วมือลงไป 1-2 นิ้ว ระหว่างคอสัตว์เลี้ยงและ collar ได้

- ควรใส่สายจูงพาน้องหมาน้องแมวที่ใส่ collar แล้ว เดินเล่นไปรอบๆบ้าน ตามสถานที่ที่เขาเคยทำกิจวัตรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน รวมทั้งถ้าสัตว์เลี้ยงยังมีอาการเครียดจากการใส่ collar อย่าเพิ่งทิ้งเค้าไว้เพียงลำพังนะคะ เจ้าของควรอยู่เป็นเพื่อนให้เค้าคลายกังวลก่อน ไม่อย่างนั้นกลับมา collar อาจจะพังยับเยิน และสัตว์เลี้ยงอาจบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้

2. เตรียมพื้นที่ทางเดินปกติของเขาให้กว้างกว่าเดิม เมื่อสัตว์เลี้ยงสวมใส่ collar แต่เขาจะยังเคลื่อนไหวแบบเดิม โดยลืมเผื่อระยะให้ความกว้างของ collar ในช่วง 2-3 วันแรกจึงอาจจะมีการเดินชนเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของที่อยู่ในบ้านได้ ดังนั้นเจ้าของควรเคลียร์พื้นที่ให้เขาในช่วงแรก หลังจากที่สัตว์เลี้ยงปรับตัวซักระยะ ก็จะสามารถกะระยะของ collar ที่ใส่ได้

3. สัตว์เลี้ยงที่ใส่ collar สามารถกินอาหารได้ตามปกติ โดยเค้าจะครอบ collar ลงไปรอบชามอาหาร เจ้าของอาจช่วยให้สัตว์เลี้ยงกินได้สะดวกขึ้น โดยเลื่อนชามอาหารและน้ำให้ห่างจากกำแพง หรือวางบนที่วางอาหารยกสูงขึ้นเล็กน้อย ถ้าหากสัตว์เลี้ยงไม่สามารถกินอาหารตอนใส่ collar ได้จริงๆ เจ้าของสามารถถอด collar ออกได้ระหว่างที่เค้ากิน และคอยดูว่าไม่ให้หันไปเลียแผล หลังจากกินเสร็จ ก็ใส่ collar ไว้ตามเดิม

สำหรับการนอน สัตว์เลี้ยงสามารถนอนไปพร้อม collar ได้เลย อย่าใจอ่อนนะคะ ถ้าใครกังวลว่าสัตว์เลี้ยงจะนอนไม่สบายแล้วถอด collar ออก ช่วงเจ้าของหลับนี่แหละที่เป็นเวลาทองของการแอบเลียแผล

4. อย่าลืมดูแลความสะอาดของ collar โดยสามารถถอดออกชั่วคราวแล้วนำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานได้ แล้วเช็ดให้แห้งก่อนนำกลับไปใส่ให้สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการสังเกตแผลว่ายังปกติแห้งดีหรือไม่ เพราะสัตว์เลี้ยงบางตัวสามารถเอา collar ไปดันกับเฟอร์นิเจอร์หรือกำแพง แล้วแอบยื่นหน้าออกมาเลียได้

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้ collar ชนิดไหน ขอให้คำนึงถึงจุดประสงค์หลักคือการป้องกันการเลีย แทะ กัด แผล ให้ได้นะคะ แล้วอย่าลืม แม้ว่า collar จะถูกเรียกว่า “cone of shame” ก็ต้อง “Keep The Cone On!!” ตลอดเวลา เพราะว่าลิ้นของเจ้าตัวเล็กของเรา ทรงพลังกว่าที่เจ้าของคิด

บทความโดย

สพ.ญ สุรดา วัชรพงศ์ปรีชา


เอกสารอ้างอิง

https://www.preventivevet.com/dogs/how-to-help-your-dog-feel-comfortable-wearing-a-cone

http://nozebra.ipapercms.dk/Kruuse/exp/postoperative/buster-collar-comparison-chart

https://en.wikipedia.org/wiki/Elizabethan_collar

https://www.dailydogdiscoveries.com/tag/how-to-fit-a-dog-elizabethan-collar/

https://www.northtownvethospital.com/keep-the-cone-on/

รูปภาพ

https://paintingandframe.com/prints/others_english_women-24576.html

https://etc.usf.edu/clipart/23800/23845/eliz_costume_23845.htm

https://www.pinterest.com/pin/17310779789923290/

https://www.instructables.com/id/Cone-Friendly-Pet-Eating-Dish-Stand/


Share this entry