เรบีส์ (Rabies) โรคที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย

ความจริงเกี่ยวกับ Rabies

                Rabies เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งพบได้มากกว่า 150 ประเทศ

 

สุนัข เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการตายจากเชื้อไวรัสนี้ในมนุษย์มากที่สุด และเป็นเหตุหลักถึง 99 เปอร์เซ็นต์ สามารถกำจัดโรคนี้ไปได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและป้องกันไม่ให้สุนัขกัด การติดเชื้อก่อให้เกิดการเสียชีวิตถึง 10 ใน 1,000 และพบได้มากที่สุดคือ เอเชียและแอฟริกา 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนที่ถูกกัดจากสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อนี้คือเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี การล้างแผลที่ถูกกัดด้วยน้ำและสบู่ทันที เป็นสิ่งสำคัญมากที่ช่วยให้เรารอดชีวิตได้

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization,WHO), องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(the World Organisation for Animal Health (OIE), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(the Food and Agriculture Organization of the United Nations,FAO) และองค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก(the Global Alliance for Rabies Control,GARC) ได้มีนโยบายร่วมกัน “United Against Rabies” ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้มนุษย์ทุกคนไม่ต้องเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้อีกต่อไปในปี 2030 "Zero human rabies deaths by 2030"

ต้องยอมรับกันว่า เมืองไทยของเรามีปริมาณของสัตว์เลี้ยงทั้งมีเจ้าของและไม่มีเจ้าของอยู่เป็นจำนวนมาก และ บางส่วนก็พบว่าออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะกันได้โดยไร้การควบคุม โดยส่วนใหญ่ที่เราจะพบเจอกันได้บ่อยๆก็คือ สุนัขและแมว และด้วยการที่ปริมาณของสัตว์เลี้ยงที่ไร้เจ้าของที่มีปริมาณมากมายทำให้การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนให้กับสัตว์เหล่านี้ ก็ไม่สามารถทำได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน จึงถือได้ว่าเป็นปัญหาและสาเหตุหลักๆที่ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีการพบและระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างหนึ่งที่เรารู้จักกันในชื่อของ โรคพิษสุนัขบ้า หรือ เรบีส์(Rabies)

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นที่เข้าใจผิดเพี้ยนกันในหลายส่วน โดยที่เราพบความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนส่วนใหญ่คือ โรคนี้พบในสุนัขเท่านั้นและเกิดจากการที่สุนัขร้อนจัดจนบ้า จึงมีการรณรงค์การป้องกันโรคนี้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี......ซึ่งมันผิด

ที่ถูกต้องคือ โรคพิษสุนัขบ้านั้นพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆเช่น หนู กระรอก กระต่าย รวมไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุกร แต่ที่เราเรียกกันว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้น ก็มาจากการที่เราใช้ชีวิตประจำวันคลุกคลีอยู่กับสุนัขมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ และ โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาลที่ระบาดเป็นพิเศษ....ดังนั้น ภัยจากโรคนี้จึงอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

โรคเรบีส์เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเชื้อนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ระบบประสาทแล้วเดินทางขึ้นสู่สมอง ดังนั้น การถูกกัดหรือสัมผัสในบริเวณที่มีเส้นประสาทอยู่มาก เช่น มือ ศรีษะ 

แล้วเราควรเตรียมรับมือกับโรคติดต่อร้ายแรงนี้อย่างไร??? เพราะโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคเรบีส์นี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งเพราะอัตราการตายสูงมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันหรือได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

มาตราการแรก : ป้องกันตัวเอง

ด้วยการรับวัคซีนป้องกันแบบก่อนการสัมผัสโรคเรบีส์ (pre-exposure rabies prophylaxis) ซึงมีข้อดีคือสามารถให้วัคซีนนี้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไปรวมถึงสตรีที่กำลังตั้งครรภ์เพราะมีความบริสุทธิ์ของการผลิตที่สูง ใช้เวลาตลอดโปรแกรมการให้วัคซีนเพียง 1 เดือนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ต้องมารับความเจ็บปวดจากการให้เซรุ่มหรือ immunoglobulin แบบฉีดรอบบาดแผลที่มีความเจ็บปวดมากๆหลังการสัมผัสโรคอีกด้วย(ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุนแรงของบาดแผลและการพิจารณาของแพทย์ผู้ให้การรักษา)โดยจะสามารถรับวัคซีนได้ 2 รูปแบบ

กรณีเป็นบุคคลทั่วไป มีการให้วัคซีนได้ 2 วิธี

1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular regimen : IM) ในวันที่ 0 และ 7

2. การฉีดเข้าในหนัง (Intradermal regimen : ID) จะแบ่งฉีดครั้งละ 2 ตำแหน่ง แต่ปริมาณต่อเข็มน้อยกว่าการฉีดแบบ IM และจะฉีดในวันที่ 0, 7 และ 21

กรณีเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีการให้วัคซีนได้ 2 วิธี

1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular regimen : IM) ด้วยวัคซีนชนิดเดียวกับที่ให้ในบุคคลทั่วไป แต่เพิ่มจำนวนครั้งเป็นให้ในวันที่ 0, 7, 21 และ 28

2. การฉีดเข้าในหนัง (Intradermal regimen : ID) ด้วยวัคซีนชนิดเดียวกับที่ให้ในบุคคลทั่วไป แต่จะฉีด 1 ตำแหน่งในปริมาณต่อเข็มน้อยกว่าการฉีดแบบ IM และจะฉีดในจำนวนครั้งที่มากกว่า คือวันที่ 0, 7, 21 และ 28

 

พาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ทุกปี

การให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อจะช่วยลดการระบาดและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเรบีส์จากการที่เราคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าสัตว์ที่เราไม่ได้เลี้ยง อีกทั้ง หากสัตว์เลี้ยงบังเอิญได้รับเชื้อก็มีโอกาสรักษาหายสูงกว่าสัตว์เลี้ยงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย

 

มาตราการที่สอง : เมื่อเราสัมผัสกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์

สิ่งที่เราต้องปฎิบัติในทันทีด้วยตนเองเพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสนี้ สรุปไว้ขั้นต้นดังนี้

1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้งให้ถึงก้นแผล นานประมาณ 15 นาที โดยระวังอย่าให้แผลช้ำ และเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น povidone iodine หรือ 70% alcohol 

 

2.รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งแพทย์ที่ให้การดูแลถึงข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา เช่น 

-  แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณบาดแผลโดยพิจารณาจากสุขภาพของผู้ป่วย เช่น มีภาวะผิดปกติของร่างกาย(เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ตัดม้ามไปแล้ว, ไตวาย เป็นต้น)  ประวัติการแพ้ยา, บริเวณที่ถูกกัดและขนาดของบาดแผล โดยไม่แนะนำให้เย็บปิดบาดแผลยกเว้นเพื่อลดการสูญเสียเลือดเท่านั้น

- แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักร่วมด้วย โดยจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้งและครั้งสุดท้ายไม่เกิน 5 ปี กับผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องแจ้งข้อมูลนี้แก่แพทย์ที่ให้การรักษา

- กรณีผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนป้องกันหรือเคยได้รับการรักษาแบบ post-exposure prophylaxis ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบด้วย เพราะมีผลต่อการวางแผนการให้การรักษาต่อไป

 

3. เพื่อยืนยันว่าสัตว์ที่เราสัมผัสนั้นมีการติดเชื้อโรคเรบีส์ การตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการตรวจจากเนื้อเยื่อสมอง(สัตว์ต้องเสียชีวิต) ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะไม่สามารถที่จะตรวจด้วยวิธีนี้ได้ เช่น สัตว์หายตัวไป หรือ ไม่สามารถที่จะนำเนื้อเยื่อสมองมาได้เนื่องจากสัตว์นั้นมีเจ้าของที่ไม่ยินยอม หรือ สัตว์เสียชีวิตไปก่อนแล้วทำให้เนื้อเยื่อสมองนั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาตรวจสอบได้(เสียหายจากการเน่า) แนะนำให้ดำเนินการดังนี้

 -  กรณีสามารถส่งตรวจสมองสัตว์ได้ ส่งสมองสัตว์ภายใน 24 ชั่วโมงโดยแช่น้ำแข็งไม่ให้สมองเน่า (ห้ามแช่ในน้ำยาฟอร์มาลีน) ไปยังสถานที่ที่รับตรวจพยาธิสภาพของสัตว์ที่ติดเชื้อโรคนี้ เช่น สถานเสาวภา สภากาชาดไทย(ตลอด24ชั่วโมง) และสถานที่อื่นๆโดยตรวจสอบได้จากเว็บไซท์ของสถานเสาวภา (https://www.saovabha.com/th/cliniclaboratory.asp?nTopic=5)

      1.) พบการติดเชื้อ : ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบหลังสัมผัสเชื้อ (post-exposure prophylaxis)

      2.) ไม่พบการติดเชื้อ : ไม่ต้องรับการรักษา แต่แพทย์มักจะพิจารณาให้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคตให้

- กรณีไม่สามารถตรวจสมองสัตว์ได้ 

    1.) สัตว์หายไปหรือติดตามสัตว์ไม่ได้ : ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบหลังสัมผัสเชื้อ (post-exposure prophylaxis)

    2.) สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่เราไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ให้ใช้การกักตัวเพื่อติดตามอาการ โดยมีเกณฑ์พิจารณาว่าสัตว์ปกติหรือไม่ : พิจารณาว่าครบ 3 ข้อหรือไม่ 

         ข้อที่หนึ่ง   สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการกักขังบริเวณ มีโอกาสสัมผัสสัตว์อื่นน้อย

         ข้อที่สอง    สัตว์ได้รับวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 2 ครั้ง และครั้งสุดท้ายไม่เกิน 1 ปี 

         ข้อที่สาม   การกัดมีสาเหตุจูงใจ เช่น แหย่สัตว์ รังแกสัตว์ ฯลฯ

        2.1)  ถ้าครบทั้ง 3 ข้อ ให้กักบริเวณสัตว์ไว้ 10 วัน หากสัตว์มีอาการปกติ ไม่ต้องรับการรักษา แต่ หากสัตว์ผิดปกติหรือเสียชีวิต ให้ผู้ป่วยรับการรักษาแบบ Post ทันทีและส่งสมองสัตว์ตรวจ

          2.2) ถ้าไม่ครบ 3 ข้อ    

                   -  หากสัมผัสสัตว์มาเกิน 10 วัน และสัตว์ยังปกติ ไม่ต้องรับการรักษา แต่อาจจะพิจารณาให้วัคซีนเพื่อป้องกัน

              -  หากสัมผัสสัตว์มาน้อยกว่า 10 วัน ให้รับการรักษาแบบ post-exposure prophylaxisร่วมกับการกักขังสัตว์เพื่อดูอาการ หากสัตว์ไม่ตายและมีอาการปกติอาจหยุดการรักษาได้ถึงแม้

สัตว์มีอาการปกติก็อย่าพึงใจว่าปลอดภัย เพราะสัตว์อาจจะยังไม่แสดงอาการของโรคแต่สามารถแพร่ไวรัสได้ ดังนั้น หากถูกสัตว์กัดหรือเลีย จะต้องจับขังไว้เพื่อสังเกตุอาการ 10 วันและผู้ถูกสัตว์กัดจะต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

คำถามที่พบบ่อย

1. การรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคเรบีส์โดยไม่ทำให้สุก

ตอบ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับให้เป็นระดับ WHO category II ที่เพียงให้การรักษาด้วยการให้เพียงวัคซีนอย่างเดียวได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนและมีโอกาสติดเชื้อจากการรับประทานได้น้อยมาก ส่วนการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปรุงสุกแล้ว ดื่มน้ำนมดิบ หรือ นมพาสเจอไรซ์ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาแต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน

2. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน

ตอบ องค์การอนามัยโลก (WHO) พ.ศ.2561 แนะนำว่าหากมีการสัมผัสโรคซ้ำภายใน 3 เดือนหลังการฉีดวัคซีนครบ ผู้สัมผัสโรคไม่ต้องรับวัคซีนป้องกัน แต่ แนวทางของสถานเสาวภาและกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยึดหลักให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาภายใน 6 เดือน เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าที่ระยะเวลา 3 เดือนมีผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายมีระดับภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอในการป้องกันโรค ดังนั้น การละเว้นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภายหลังในพื้นที่มีการระบาดถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก

3. ในกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน

ตอบ ไม่คำนึงว่าผู้ป่วยได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเท่าใดก็ตาม ให้ฉีดเข็มกระตุ้น

4. การสัมผัสสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย

ตอบ ถึงแม้องค์การอนามัยโลกจะถือว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ในทางปฎิบัติของประเทศไทยเคยมีการตรวจพบว่ามีการติดเชื้อเรบีส์ใน หนูและกระต่าย ดังนั้น จึงยังคงแนะนำให้ผู้สัมผัสสัตว์ฟันแทะดังกล่าวเข้ารับการรักษาด้วย

5. หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเลียบริเวณเยื่อบุตา เยื่อบุปาก มีแนวทางการดูแลอย่างไร

ตอบ ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำเกลือนอร์มัลให้มากที่สุดแล้วรีบไปพบแพทย์

6. หากฉีดวัคซีนป้องกันไม่ตรงตามนัด ต้องเริ่มฉีดใหม่หรือไม่

ตอบ สามารถฉีดต่อได้ไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ โดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ควรได้รับ และ คงระยะห่างของแต่ละเข็มที่เหลือดังเดิม ไม่ว่าผู้เข้ารับวัคซีนจะมาล่าช้าไปนานเท่าใด

7. หากกำลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์หลังสัมผัสโรค แต่ยังไม่ครบ และถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความเสี่ยงกัด ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพิ่มเติมหรือไม่

ตอบ ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนตามเดิมจนครบ ไม่ต้องเริ่มใหม่หรือฉีดเพิ่มเพราะพบว่าขณะนั้นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันโรคอยู่แล้ว

8. ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ครบแล้ว เมื่อมีการสัมผัสโรคเรบีส์จะสามารถป้องกันได้อย่างไร

ตอบ แตกต่างกันตามแต่ชนิดของวัคซีนที่ผู้สัมผัสโรคเคยได้รับ หากเคยได้รับชนิด 3 เข็มเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะนานหลายสิบปีร่างกายจะยังคงจดจำเชื้อโรคได้ แพทย์จะทำความสะอาดบาดแผลและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็เพียงพอแล้ว แต่หากไม่มีหลักฐานการได้รับวัคซีนหรือมีประวัติได้รับชนิดฉีดรอบสะดือเท่านั้น แพทย์จะเริ่มการรักษาเสมือนไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

9. หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันมาครบแล้ว จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเป็นระยะ เช่น ทุก 5-10 ปี  หรือไม่

ตอบ สำหรับผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงแนะนำให้มีการกระตุ้นทุกปี(หรือเมื่อตรวจเลือดแล้วพบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าระดับป้องกัน) แต่สำหรับเด็กและประชาชนทั่วไปหรือนักเดินทาง ให้รับเข็มกระตุ้นเมื่อมีการสัมผัสโรคซ้ำเท่านั้น

 

บทความโดย 

สพ. ญ. พิชญาภา ชมแก้ว

.........................................................................................................................................................................................................................

เอกสารอ้างอิง

1. Website : World Health Organization 21 May 2019

2. Centers for Disease Control and Prevention, “Vital Sighs : Trends in Human Rabies Deaths and Exposures – United States, 1938-2018, Weekly / June 14,2019/68(23);524-528)

3. แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ. 2561 และคำถามที่พบบ่อย(websiteอ้างอิง http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Rabies-book-2018-4-09-2018-ok.pdf)

4. การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า(websiteอ้างอิง https://www.saovabha.com/download/vaccinemethod_beforeahead.pdf)

5. Rabies(websiteอ้างอิง https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/rabies)

6. Vital Sighs : Trends in Human Rabies Deaths and Exposures

7. https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/68/wr/mm6823e1.htm

.........................................................................................................................................................................................................................

Share this entry