Surgical sutures
1. ไม่มีวัสดุเย็บชนิดไหนเหมาะกับเนื้อเยื่อทุกชนิด และมีคุณสมบัติตามอุดมคติครบทุกข้อ
คุณสมบัติของวัสดุเย็บในอุดมคติ
- สามารถประคองเนื้อเยื่อจนหายได้
- ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย
- ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อน้อย
- ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย
- หยิบจับใช้งานง่าย
- มัดปมง่าย ปมแน่น
- ราคาไม่แพง
2. การแบ่งชนิดวัสดุเย็บสามารถแบ่งได้หลายวิธี แล้วแต่เกณฑ์ที่เลือก
เกณฑ์ที่นิยมใช้ในการแบ่งชนิดของวัสดุเย็บได้แก่
แหล่งกำเนิด
- วัสดุเย็บที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ (Natural) เช่น silk, catgut
- วัสดุเย็บที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ (Synthetic)
ลักษณะทางกายภาพ
- Monofilament suture
จุดเด่น : วัสดุผิวเรียบก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อน้อย ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อ
จุดด้อย : วัสดุมี memory มาก ทำให้มัดปมยาก ปมมีขนาดใหญ่
- Multifilament suture
จุดเด่น : วัสดุอ่อนนุ่ม หยิบจับใช้งาน และมัดปมง่าย ความแข็งแรงของปมสูง
จุดด้อย : มีแรงเสียดทานขณะลากผ่านเนื้อเยื่อสูง ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้ง่าย มี capillary effect ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อได้
Barbed : วัสดุเย็บมีลักษณะเป็นหนาม ไม่ต้องมัดปม ในทางสัตวแพทย์มีการนำมาใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้อง
- แบ่งตามการละลาย
Absorbable suture : วัสดุเย็บมีการสูญเสียความแข็งแรง (tensile strength) ภายใน 60 – 90 วัน โดยการสลายของวัสดุเย็บเกิดจาก 2 กระบวนการคือ สลายโดย Phagocytosis / Enzymatic process ในกรณีที่เป็นวัสดุเย็บแบบ Natural และสลายโดยวิธี Hydrolysis ในกรณีที่เป็นวัสดุเย็บแบบ Synthetic
Non- absorbable : วัสดุเย็บคง tensile strength ที่ 100% เมื่อ 60 วันผ่านไป (วัสดุเย็บแบบไม่ละลายบางชนิดหากทิ้งไว้เป็นเวลานานก็สามารถเสีย tensile strength ได้เช่นกัน)
3. ชนิดของวัสดุเย็บ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ต้องนึกถึงตอนเลือกวัสดุเย็บแผล สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกวัสดุเย็บ คือ
ชนิดของวัสดุเย็บ
Non- absorbable suture เหมาะสำหรับ
- การเย็บแผลที่ต้องอาศัยความแข็งแรงของวัสดุเย็บแบบถาวร เช่น การผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อน
- การเย็บเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ/การบวม/มีแรงตึงมาก
- การเย็บประคองเนื้อเยื่อชั่วคราวโดยที่เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อน้อย เช่น การเย็บปิดผิวหนัง
Absorbable suture เหมาะสำหรับ
การเย็บแผลอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องการความแข็งแรงในการประคองแผลเพียงชั่วคราว และวัสดุเย็บสามารถสลายไปเมื่อไม่มีความจำเป็น ซึ่งการเลือกใช้ absorbable suture จะคำนึงถึงระยะเวลาการคงเหลือความแข็งแรงที่ 50% ของวัสดุเย็บชนิดนั้นๆ โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
- Short-term วัสดุเย็บคงเหลือความแข็งแรงที่ 50% ที่ 1 สัปดาห์ เหมาะกับเนื้อเยื่อที่ใช้เวลาในการหายของแผลเร็ว เช่น เนื้อเยื่อในช่องปาก
- Intermediate-term (Middle-term/Mid-term) วัสดุเย็บคงเหลือความแข็งแรงที่ 50% ที่ 2-3 สัปดาห์ เหมาะกับเนื้อเยื่ออ่อนส่วนใหญ่ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น
- Long-term วัสดุเย็บคงเหลือความแข็งแรงที่ 50% ที่ 4 สัปดาห์ เหมาะกับเนื้อเยื่อกลุ่ม หลอดอาหารfascia tendon Linea alba
- Extra Long-term วัสดุเย็บคงเหลือความแข็งแรงที่ 50% ที่ 60 วันขึ้นไป ยังไม่มีการนำมาใช้ในทางสัตวแพทย์
ขนาดของวัสดุเย็บ ขนาดที่เลือกใช้ควรเป็นขนาดเล็กที่สุดที่สามารถประคองเนื้อเยื่อได้ หากขนาดใหญ่ไปจะทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดได้ง่าย
รูปร่างของเข็มเย็บแผล จะแบ่งตามความโค้งของเข็มโดยเข็มที่โค้งมากกว่าจะเหมาะกับพื้นที่ลึกกว่า ความโค้งของเข็มที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์คือ 1/2C และ 3/8C
ขนาดของเข็มเย็บแผล ขึ้นกับขนาด และชนิดของเนื้อเยื่อ แนะนำให้ใช้ขนาดเล็กที่สุดที่สามารถทำงานได้
ชนิดของปลายเข็มเย็บแผล ที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์ ได้แก่ tapper point และ Reverse cutting
- Tapper point ตัวเข็มกลมและปลายแหลม เหมาะกับเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม
- Reverse cutting ตัวเข็มเป็นทรงสามเหลี่ยม โดยส่วนของฐานสามเหลี่ยมจะอยู่ด้านบน ขอบคมทั้ง 3 ด้าน เหมาะกับเนื้อเยื่อที่เหนียว
ชนิดของเนื้อเยื่อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
- ระยะเวลาการหายของเนื้อเยื่อ
เนื้อเยื่อที่หายช้า เช่น fascia tendon เลือกใช้ non-absorbable หรือ long-term absorbable suture
เนื้อเยื่อที่หายเร็ว เช่น เนื้อเยื่อทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ เลือกใช้ absorbable suture
- ความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การผ่าตัดระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ หรือการเย็บแผลที่มีการติดเชื้อมาก่อน การเลือกใช้วัสดุเย็บไม่ควรเลือกวัสดุชนิด Multifilament เพราะมีโอกาสสะสมของเชื้อสูง
4. การเย็บแผลนอกจากวัสดุเย็บที่ดีแล้ว ต้องมีเทคนิคที่ดีด้วย
หลักการสำคัญในการเย็บแผล คือ การประคองเนื้อเยื่อให้มาชิดกัน โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด กำจัดพื้นที่ว่าง (dead space) ของแผล และ ทำให้เกิดสิ่งแปลกแปลมน้อยที่สุด
สิ่งที่ต้องระวังขณะเย็บแผล
- การจับอุปกรณ์ ต้องจับให้ถูกวิธี เพื่อให้ทำงานได้อย่างถนัด
Needle holder Forcep ใช้ปลายในการจับตัวเข็ม ไม่ควรจับปลายเข็ม เพราะจะทำให้เข็มทื่อ และไม่ควรใช้วัสดุเย็บ เพราะจะทำให้วัสดุเย็บเกิดความเสียหาย
Forcep ไม่ควรจับแบบคว่ำมือ เพราะจะให้บริเวณที่หนีบเนื้อเยื่อเกิดแรงมากเกินไป เนื้อเยื่อเกิดการบวมได้
- การมัดปม ปมเป็นบริเวณที่ต้องระวังมากที่สุดในการเย็บแผล การมัดปมที่ผิดวิธี หรือไม่แน่นพอจะทำให้ปมคลาย และเกิดภาวะแผลแตกตามมาได้ แต่การมัดปมที่มากเกินไป จะทำให้ปมมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ปมนั้นกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม ในร่างกายได้ จากงานวิจัยของ Muffly et al., 2011 พบว่าการมัดปมตั้งแต่ 4 ปมขึ้นไปความแข็งแรงของปมไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการมัดปมที่ถูกวิธีจำนวน 4 ปมจึงเพียงพอแล้วต่อการเย็บแผล
- การเลือกรูปแบบการเย็บ ต้องเลือกรูปแบบการเย็บที่เหมาะสมกับลักษณะขอบแผล เพื่อทำให้ขอบแผลมาชนกันพอดี ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อหายเร็ว และมีความแข็งแรง
....................
บทความโดย
สพ.ญ.อภิลักษณ์ มหัธนันท์
..................
#เครื่องมือสัตวแพทย์ #คลินิกสัตวแพทย์ #โรงพยาบาลสัตว์ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง #อุปกรณ์สัตวแพทย์ #BEC #becvet #BECpremium #ครบจบที่BEC