เมื่อเจ้าตูบบ่น “คัน” อาการคันของสุนัขบอกโรคอะไรบ้าง

เมื่อเจ้าตูบบ่น “คัน” อาการคันของสุนัขบอกโรคอะไรบ้าง

รู้หรือไม่ว่าอาการคันตามตำแหน่งต่าง ๆ ของสัตว์เลี้ยง สามารถบอกโรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราได้ 
วันนี้เรามาดูว่าอาการคันของสุนัขบอกโรคอะไรบ้าง อาการเป็นแบบไหน และควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบสัตวแพทย์กันค่ะ

โรคขี้เรื้อนแห้ง 

อาการ : บริเวณที่เป็นจะพบลักษณะขนร่วง อาจจะมีตุ่มแดง ๆ ตามผิวหนัง จะแสดงอาการคันมากรอยโรคจะกระจายตัวเร็วมาก อาการคันเกิดจากตัวไรทำให้ผิวหนังระคายเคืองรวมทั้งปล่อยสารพิษทำให้ผิวหนังมีอาการแพ้

โรคกลาก

อาการ : มีรังแค ผิวหนังแดง และมีสีเข้มขึ้น คัน และขนร่วงเป็นปื้นหรือเป็นวง ผิวหนังบริเวณดังกล่าวอาจนูนขึ้นหรือเป็นตุ่ม และอาจมีน้ำเหลืองไหลออกมาได้ นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดการอักเสบตามง่ามนิ้วเท้าและซอกเล็บ

โรคภูมิแพ้อาหาร

อาการ : ผิวหนังมีผื่นแดง มีเม็ดตุ่ม คัน ขนร่วง ส่วนใหญ่จะพบตามบริเวณใบหน้าและที่หูประมาณ 80% ที่ขาและเท้าประมาณ 60% ที่โคนขาหนีบประมาณ 50% ที่บริเวณหน้าอก รักแร้ และรอบดวงตาประมาณ 35% และบริเวณอื่นๆ ก็สามารถพบได้อย่าง เช่น รอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร เป็นต้น 

โรคภูมิแพ้การสัมผัส

อาการ : เกิดจากการสัมผัส ซึ่งพบบ่อยในการแพ้แชมพูที่อาบ โดยเฉพาะการใช้แชมพูของคน สบู่กรด น้ำยาล้างจาน หรือผงวักฟอกมาอาบให้สุนัข ซึ่งอาการที่พบก็คือผิวหนังสุนัขจะแดงทันทีหลังอาบน้ำ และมีอาการคันตามมา ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้แชมพูยารักษาโรคผิวหนังมาใช้สำหรับสุนัขกลุ่มนี้

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์

อาการ : คัน ผิวหนังเป็นผื่นแดง ขนร่วง มีสะเก็ดรังแค มีคราบเหนียว ๆ เยิ้ม ๆ ที่ผิวหนัง มักพบที่บริเวณ รอบริมฝีปาก ลำคอ อุ้งเท้า ขาหนีบ ใบหู ในรูหู และ ขี้หูมีสีเหลืองเหนียว ๆ และในรายที่เป็นมานาน ๆ จะพบผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนสี เนื่องจากมีเม็ดสีไปสะสมมากขึ้น น้องหมาจะมีกลิ่นตัวแรงตลอดเวลา ทั้งที่เพิ่งอาบน้ำให้

โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด

อาการ : มีตุ่มแดง ซึ่งมักจะพบที่บริเวณหลัง บางครั้งอาจจะพบตัวหมัด บางครั้งไม่พบตัวหมัด แต่อาจจะพบ flea dirt ซึ่งเป็นผงสีดำ ๆ อยู่บนขนสัตว์ และถ้าหยดน้ำใส่ผงดำ ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นเลือดแห้ง ๆ ทำให้สุนัขมีอาการคันอย่างรุนแรง

 


 

เมื่อพบว่าสุนัขมีอาการดังกล่าวควรพามาพบแพทย์

การเตรียมตัวสุนัขก่อนเข้ารับการตรวจผิวหนัง

1. งดอาบน้ำ งดทำความสะอาดผิวหนัง และช่องหูก่อนพามาตรวจ

    อย่างน้อย 2 วัน

2. อย่าทายาหรือแต้มยาสันต่าง ๆ กลบรอยโรค เพราะทำให้

    บดบังการตรวจวินิฉัย

3. ผู้ที่พาสุนัขมาตรวจควรเป็นคนที่ทราบอาการของสุนัขเป็นอย่างดี

    และควรเป็นคนเดียวที่จะดูแลสุนัขระหว่างรักษา

4. โรคผิวหนังใช้เวลาในการรักษา ผู้ดูแลต้องทราบ แผนการรักษา

    และต้องพามาตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่อง

 

Share this entry