ความแตกต่างของ DISINFECTION VS STERILIZATION และ INDICATORS ที่นิยมใช้ในสถานพยาบาลสัตว์

ความแตกต่างของ DISINFECTION VS STERILIZATION และ INDICATORS ที่นิยมใช้ในสถานพยาบาลสัตว์

Sterilization คือกระบวนการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด (all microorganism) ซึ่งประกอบด้วย แบคทีเรีย ไวรัสและสปอร์ บนสิ่งมีชีวิตและวัตถุต่างๆ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ้าคลุมผ่าตัด ท่อสวนเข้าสู่ร่างกาย เข็มเย็บแผล เข็มฉีดยา ที่ต้องใช้ในเนื้อเยื่อปลอดเชื้อหรือใช้กับระบบไหลเวียนโลหิต

Disinfection คือกระบวนการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคส่วนใหญ่ (most pathogenic microorganism) บนวัตถุ (nonliving) และ Antisepsis คือกระบวนการทำลายเชื้อแบบเดียวกับ disinfection แต่ใช้กับสิ่งมีชีวิต (living) โดยกระบวนการของ antiseptics จะถูกใช้เพื่อฆ่าจุลินทรีย์ก่อโรคระหว่างเตรียมพื้นที่ผ่าตัดบนผิวหนังและใช้ฟอกล้างมือก่อนการผ่าตัด (surgical scrubbing)

DISINFECTION

การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคด้วยสารต่างๆ มักจะใช้เป็นสาร liquid disinfectants การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความต้องการที่แตกต่างกันของผลการทำลายเชื้อ โดยสาร disinfectants ที่นิยมใช้จะมีข้อมูลตามตารางด้านล่างนี้  

STERILIZATION

 เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอยู่ในสถานะปราศจากเชื้อ หรือ sterile ดังนั้น อุปกรณ์หรือสิ่งต่างๆที่จะสัมผัสจึงต้องอยู่ในภาวะ sterile ด้วย ซึ่งกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อนี้จะมีหลายประเภท ทั้ง steam, chemicals, plasma, และ ionizing radiation โดยการเลือกใช้ประเภทของกระบวนการจะขึ้นกับคุณสมบัติของจุลินทรีย์คือ จำนวน ชนิดและความต้านทานตามธรรมชาติของเชื้อที่อยู่บนวัสดุต่างๆที่ต้องการทำให้ปราศจากเชื้อนั้นเอง โดยสารต่างๆที่อาจจะปนเปื้อนหรือแทรกอยู่ในอุปกรณ์อาจจะขัดขวางการทำลายเชื้อได้ เช่น ดินและน้ำมัน โดยจะขอยกตัวอย่างกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อที่นิยมในปัจจุบันคือ Steam Sterilization, Chemical (Gas) Sterilization และ Ionizing Radiation

1. STEAM STERILIZATION

 แรงดันไอน้ำ (pressurized stream) เป็นกระบวนการที่นิยมใช้เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อมากที่สุด เหมาะสำหรับใช้งานตามสถานพยาบาลสัตว์ต่างๆเพราะสามารถทำได้ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูงเหมือนวิธีการอื่นๆ โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของ (1)ความร้อน, (2)แรงดันและ(3)เวลาที่เหมาะสมในภาชนะระบบปิด เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดภาวะ sterile ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ให้เกิดการตกตะกอนและทำลายสารประกอบโปรตีน ซึ่งอุปกรณ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อรองรับระบบการทำงานนี้ถูกเรียกว่า autoclave

ข้อแนะนำที่จะช่วยให้การทำงานของ autoclave เกิดขึ้นอย่างถูกต้องคือ การห่อเครื่องมือ (wrap) และ การใส่จำนวนห่อเครื่องมือต่อครั้ง (load) โดยควรจัดวางห่อเครื่องมือแต่ละห่อในแนวตั้ง (vertically) เรียงกันไปตามความกว้างของห้องนึ่ง โดยวางห่อเครื่องมือที่มีขนาดใหญ่ (heavy packs) ไว้ขอบๆของห้องนึ่ง โดยแนะนำให้แต่ละห่อเครื่องมือควรห่างกัน 1 ถึง 2 นิ้ว เพื่อเปิดทางให้ไอน้ำผ่านได้สะดวก อีกทั้ง ควรห่อเครื่องมืออย่างเหมาะสม ต้องไม่หนาจนเกินกว่าที่ไอน้ำจะสามารถผ่านเข้าไปได้ โดยในปัจจุบัน หลายสถานพยาบาลสัตว์จะมี autoclave ใช้งานทั่วไปอยู่ 2 ประเภท

 

    (1.) Gravity displacement sterilizer

นิยมใช้มากที่สุด โดยหลักการทำงานคือ อากาศจะหนักกว่าไอน้ำ ทำให้อากาศถูกดันออกทางรูระบายด้านล่าง (passive) และแทนที่ด้วยไอน้ำที่มีแรงดันสูงเข้ามาในห้องนึ่ง กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 25 นาที ที่ความร้อน 132 ถึง 135 องศาเซลเซียส หรือ 15 ถึง 30 นาที ที่ความร้อน 121 องศาเซลเซียส  

      (2.) Pre-vacuum sterilizer

จะใช้การดูดอากาศในห้องนึ่งออก (actively pulled out) เมื่อเกิดภาวะสุญญากาศ ไอน้ำจะถูกปล่อยเข้าไปในห้องนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ไอน้ำเข้าไปแทนที่อากาศอย่างทั่วถึงกว่าและใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่าแบบ gravity displacement sterilizer โดยจะใช้เวลาในการทำงานของ pre-vacuum sterilizer คือ 3 ถึง 4 นาที ที่ 132 ถึง 135 องศาเซลเซียส

2. Chemical (Gas) Sterilization

      (1.) Ethylene oxide

เป็นของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็น flammable และ explosive liquid สามารถนำมาใช้เพื่อทำให้ปราศเชื้อได้ด้วยการผสมกับ carbon dioxide หรือ Freon (ฟรีออน, สารประกอบอินทรีย์พวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอนสลายตัวยาก) โดยจะทำลายเชื้อจุลินทรีย์ด้วยการทำลายสาร DNA ผ่านปฏิกิริยา alkylation

อุปกรณ์ต่างๆที่ไม่สามารถทนการทำงานของ steam sterile ที่มีความร้อนและความดันสูงได้ เช่น endoscopes, cameras, plastics และ powder cables ซึ่งจะถูกผลักดันด้วยความร้อน(heat)และความชื้น(moisture) ซึ่งเวลาที่ใช้ในกระบวนการจะขึ้นอยู่กับ (1)ความเข้มข้นของแก๊สที่ใช้ (2)ระดับของความชื้น(20%ถึง40%) (3)อุณหภูมิที่ใช้(49ถึง60องศาเซลเซียส) รวมทั้ง (4)ความหนา(density)และชนิด(material)ของสิ่งที่ต้องการทำให้ปราศจากเชื้อนั้นๆ โดยเมื่อผ่าน Ethylene oxide แล้ว จะต้องนำมาผ่านกระบวนการ aeration เพื่อไล่แก๊สออกให้หมดก่อนนำไปใช้งานเพื่อความปลอดภัย (ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการ aeration จะเป็นไปตามผู้ผลิตกำหนด)

ข้อควรระวังในการทำให้ปราศจากเชื้อด้วย Ethylene oxide จะต้องเตรียมอุปกรณ์ให้แห้งและสะอาดก่อนจะนำไปเข้ากระบวนการ เพราะความชื้นและสารอินทรีย์จะจับตัวกับแก๊สแล้วเกิดเป็นสารตกค้างที่ก่ออันตรายได้ รวมทั้งยังทำให้เกิดอาการพุพองได้(vesicant) รวมทั้งอาการข้างเคียงอื่นๆเช่น คลื้นไส้ อาเจียน ปวดหัว ระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งเป็นสารก่อมะเร็ง และในอนาคต กระบวนการนี้อาจจะหมดไปเพราะมีส่วนประกอบของ chlorofluorocarbon 12 ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ

3. Ionizing Radiation

อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่มีบรรจุภัณฑ์มาเรียบร้อยจากผู้ผลิตจะผ่านการทำให้ปราศเชื้อด้วยกระบวนการผ่านรังสีไอออไนซ์ (เช่น cobalt 60) กระบวนการนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและมักใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด เช่น suture material, sponges, disposable items (เช่น ชุดคลุมผ่าตัด ผ้าคลุมผ่าตัด และผ้าคลุมโต๊ะผ่าตัด) ผงแป้งต่างๆ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการรังสีนี้ หากใช้งานอุปกรณ์หรือวัสดุไม่หมดจะไม่สามารถนำมาทำให้ปราศจากเชื้อด้วยวิธีการอื่นๆได้เพื่อนำมาใช้ใหม่ได้ (resterilization) เพราะจะทำลายคุณสมบัติของอุปกรณ์และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้

 

STERILIZATION INDICATION

เพื่อทดสอบความสมบูรณ์ในการทำให้ปราศจากเชื้อ ต้องให้แน่ใจว่ามีการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆก่อนเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้องเหมาะสม คือ

1. ทำความสะอาดอุปกรณ์ก่อนเสมอ โดยอุปกรณ์ที่ไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้หรือทำความสะอาดไม่ได้ ไม่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อได้

2. เครื่องมือทำงานไม่เหมาะสม เช่น เครื่องไม่พร้อมใช้งาน ขาดการบำรุงรักษา หรือ ระบบไฟฟ้าผิดปกติ

3. การใช้งานเครื่องมือไม่เหมาะสม

4. ห่อเครื่องมือไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม

5. จัดเรียงเครื่องมือในห้องนึ่งไม่ถูกต้อง เช่น อัดแน่นจนไอน้ำไม่สามารถผ่านได้

6. ผู้ดำเนินงานใช้งานเครื่องมือไม่เชี่ยวชาญ หรือ ไม่มีความรู้เพียงพอ

 

อุปกรณ์เเพื่อช่วยในการทดสอบว่ากระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อนั้นเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์หรือไม่

1. Chemical indicators

แผ่นกระดาษหรือเทปที่มีสารเคมีที่เปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไป สามารถบอกสถานะการทำงานของเครื่องได้ว่าบริเวณที่ indicator นี้อยู่มี (1)อุณหภูมิ, (2)ความชื้นและ(3)แรงดันได้ตามที่ต้องการ แต่ไม่ได้ระบุว่าระยะเวลา(duration) ที่บริเวณนั้นได้รับ(1,2,3)เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้น การใช้ chemical indicators จึงไม่ได้บ่งบอกถึงภาวะ sterile ที่สมบูรณ์ได้ Chemical indicators นี้สำหรับ steam, gas และ plasma sterilization โดยแนะนำให้ใช้ indicators ทั้งใส่ไว้ภายในและติดไว้ที่ภายนอกของห่อเครื่องมือ

2. Biological indicators

คือการใช้แบคทีเรียไม่ก่อโรคที่อยู่ในรูป spore forming bacteria เพื่อทดสอบความสามารถในการทำให้ปราศจากเชื้อ โดยแบคทีเรียนี้อยู่ใน glass vial และเมื่อผ่านกระบวนการแล้วก็จะนำไปเพาะเชื้อ (culture) โดยแนะนำให้ใช้ biological indicators นี้ทุกๆสัปดาห์เพื่อทดสอบเครื่องมือและขั้นตอนต่างๆให้พร้อมใช้งาน

 

…………………………
บทความโดย : 
สพ.ญ.พิชญาภา ชมแก้ว
…………………………

เอกสารอ้างอิง

https://www.cssd-gotoknow.org/2014/12/monitoring-of-sterilization.html?m=1

https://veteriankey.com/sterilization-and-disinfection/

..............................................

#เครื่องมือสัตวแพทย์​ #คลินิกสัตวแพทย์​ #โรงพยาบาลสัตว์​ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง​ #อุปกรณ์สัตวแพทย์​ #BEC​ #becvet​ #BECpremium  #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง#อุปกรณ์สัตวแพทย์ #สัตว์เลี้ยง #Polyglactine910  #Sacryl

Share this entry