การดูแลรักษาแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ที่ใช้ทางการสัตวแพทย์

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ทางสัตวแพทย์ในทุกๆ วันนี้มีมากมายหลากหลาย บางชนิดมีแบตเตอรี่ในตัว เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก, เครื่องวัดความดัน Ultrasonic Doppler , เครื่อง Monitor การหายใจ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการ Monitor สัตว์ต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบแห้ง (Lead Acid Battery)

อุปกรณ์บางชนิดไม่มีแบตเตอรี่ จะต้องเสียบปลั๊กไฟถึงจะสามารถใช้งานได้ เช่น  Autoclave, โคมไฟผ่าตัด ,เครื่องผลิตออกซิเจน เป็นต้น

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ทางสัตวแพทย์ที่มีแบตเตอรี่ในตัว จะสามารถชาร์จไฟได้ หลังจากใช้งานจนแบตเตอรี่มีกำลังไฟน้อยลง  ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปในระยะเวลานานๆ แบตเตอรี่จะสามารถเสื่อมลงได้ตามอายุการใช้งาน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิด

โดยการใช้งานที่ไม่ถูกต้องในแต่ละครั้งจะส่งผลทำให้แบตเตอรี่เสื่อมลงเร็วขึ้นก่อนอายุการใช้งาน ทำให้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เร็วขึ้นก่อนเวลา จึงทำให้การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ในตัว จะต้องใช้งานอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการช่วยในการดูแลรักษาแบตเตอรี่ และให้แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ตามอายุการใช้งาน

 

การใช้งานและการดูแลรักษาแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ไฟฟ้ามีดังนี้

1. เมื่อมีการชาร์จแบตเตอรี่ ควรชาร์จให้เต็มทุกครั้งก่อนที่จะทำการใช้งาน ตามระยะเวลาการชาร์จที่กำหนดไว้ในแต่ละอุปกรณ์

2. ไม่ควรใช้งานอุปกรณ์ในขณะที่กำลังชาร์จ เนื่องจากขณะชาร์จแบตเตอรี่จะเกิดความร้อนขึ้น และเมื่อใช้งานขณะชาร์จก็จะทำให้เกิดความร้อนมากกว่าปกติ ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

3. ไม่ควรใช้งานอุปกรณ์จนแบตเตอรี่หมด เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น

4. หลังจากชาร์จแบตเตอรี่เต็ม แล้วทิ้งอุปกรณ์ไว้เป็นระยะเวลานาน โดยไม่ใช้งานจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้น ถ้าไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานานควรชาร์จแบตเตอรี่ไว้เพียงครึ่งเดียว หรือชาร์จโดยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่ง จากเวลาชาร์จที่อุปกรณ์กำหนดไว้ แต่ถ้าใช้งานเป็นประจำสามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มได้

 

นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่คือ อุณหภูมิ กระแสไฟฟ้า และแรงดันในการชาร์จ ดังนั้นการชาร์จแบตเตอรี่ให้ปลอดภัย และถนอมแบตเตอรี่มีข้อแนะนำดังนี้

1. เลือกใช้อุปกรณ์ชาร์จให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่ โดยเลือกใช้อุปกรณ์ชาร์จที่ได้รับการรับรองว่าใช้กับอุปกรณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะ

2. ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่ห่อหุ้มที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้ และไม่ควรวางอุปกรณ์พร้อมแบตเตอรี่ที่กำลังชาร์จในพื้นที่ปิด หรือไม่มีการระบายความร้อน เช่น ในตู้ ในลิ้นชัก

3. ไม่ชาร์จแบตเตอรี่ในสถานที่ที่มีความร้อนสูง เช่น ชาร์จทิ้งไว้กลางแดด

 

จากข้อแนะนำข้างต้น เมื่อปฏิบัติจะสามารถทำให้แบตเตอรี่ในอุปกรณ์สามารถใช้งานได้นานตามอายุการใช้งาน และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอุปกรณ์ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ก่อนเวลาอันควรด้วย

 

..............................................
บทความโดย : น.สพ.พุทธาพงศ์ เกียรติธรรมลาภ

..............................................

#เครื่องมือสัตวแพทย์​ #คลินิกสัตวแพทย์​ #โรงพยาบาลสัตว์​ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง​ #อุปกรณ์สัตวแพทย์​ #BEC​ #becvet​ #BECpremium  #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง#อุปกรณ์สัตวแพทย์ #สัตว์เลี้ยง #Polyglactine910  #Sacryl

Share this entry