Rabbit dental care 101

สวัสดีปีกระต่ายทอง เราจะพาทุกท่านมาเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานเบื้องต้นในการดูแลช่องปากของน้องกระต่ายกัน การดูแลช่องปากในกระต่ายนั้นค่อนข้างแตกต่างไปจากช่องปากของน้องหมาน้องแมวหรือแม้แต่ในคนมากอยู่ทีเดียว เนื่องจากฟันของกระต่ายสามารถงอกยาวได้ตลอดช่วงชีวิต โดยสามารถยาวได้เกือบ 1 นิ้วต่อสัปดาห์ ซึ่งยาวเร็วกว่าเล็บของมนุษย์เสียอีก!!! ภาวะเหล่านี้พัฒนามาให้เหมาะกับพฤติกรรมกระต่ายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ที่จะมีการกัดแทะยอดหญ้า หญ้าแห้งที่มีความหยาบ เปลือกไม้หรือผักผลไม้ต่างๆ ที่จะทำให้ผิวหน้าฟันเหล่านั้นสึกกร่อนไป ในขณะที่กระต่ายเลี้ยงอาจได้รับหญ้าแห้งบ้างในบางวัน

แต่โดยทั่วไปก็ไม่ใกล้เคียงกับพฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติ และมักได้รับหญ้าหรืออาหารเม็ดที่มีความร่วนกว่า ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ทำให้หน้าฟันกระต่ายสึกได้ขนาดนั้นอาหารเหล่านี้มักยังมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตและไขมันส่วนเกินที่เหนี่ยวนำให้กระต่ายเป็นโรคอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหารตามมาได้การให้อาหารเม็ดจึงควรมีการปรับปริมาณให้เหมาะสม โดยปรึกษาสัตวแพทย์หรือศึกษาปริมาณที่แนะนำในแต่ละมื้ออาหารจากผู้ผลิตก่อน

นอกจากนี้กระต่ายที่เลี้ยงภายในบ้านมักไม่ได้รับแสงแดดในปริมาณที่เหมาะสมมากพอ ซึ่งในแสงแดดจะมีรังสี UVB ที่มีความสำคัญต่อการผลิตวิตามินดี วิตามินดีเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร เพื่อนำไปใช้พัฒนากระดูกและฟันให้เจริญอย่างเหมาะสม ซึ่งการขาดแคลเซียมในกระต่ายก็จะนำไปสู่ภาวะที่ฟันไม่สามารถเจริญได้ตามปกติทำให้มีปัญหาทางทันตกรรมตามมาต่อไปได้

มาดูกันว่าสัญญานของปัญหาโรคฟันที่ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตได้มีอะไรบ้าง

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคทางทันตกรรมได้ง่ายและเจ้าของมักไม่สังเกตเห็นหรือตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จนกว่าโรคที่เป็นจะลุกลามหรือแสดงอาการที่ชัดเจนมากแล้วโดยแรกเริ่มเจ้าของอาจสังเกตเห็นว่ากระต่ายพวกเขาที่กำลังกินอาหารอยู่ มีอาหารหล่นจากปาก น้ำลายไหลมากขึ้นพฤติกรรมการกินอาหารเปลี่ยนไป โดยอาจจะเลือกกินอาหารอ่อนๆหรือกินอาหารได้น้อยลง ฟันหน้ามีขนาดใหญ่ยื่นยาวมากเกินไปหรือแม้แต่พบของเหลวไหลออกจากดวงตาเนื่องจากรากฟันที่ขยายขนาดจนไปเบียดท่อน้ำตา

ในช่วงแรก วิธีเดียวที่จะวินิจฉัยปัญหาทางทันตกรรมในกระต่ายได้คือ ให้สัตวแพทย์ที่มีความรู้ทำการตรวจช่องปากอย่างละเอียด (อาจจำเป็นต้องใช้ยาซึมเพื่อการตรวจวินิจฉัย) และเอ็กซเรย์กะโหลกเพื่อดูรากฟันที่อยู่ด้านล่างแนวเหงือก ฟันหน้ากระต่ายที่ยาวเกินกว่าปกติ บ่งบอกว่าขากรรไกรบนและล่างไม่สบกันพอดี ทำให้ฟันบนและฟันล่างสบกันอย่างไม่เหมาะสมเมื่อสัตว์เคี้ยว ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่าการสบฟันผิดปกติ (Malocclusion) 

กรณีฟันสบผิดปกติส่วนใหญ่เป็นกรรมพันธุ์และมักแสดงออกก่อนอายุ 6 เดือน สำหรับความผิดปกติของการสบฟันที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือเนื้องอก เมื่อกรามของกระต่ายเรียงตัวไม่เหมาะสมเจ้าของอาจเห็นว่าฟันหน้ากระต่ายยาวขึ้นมากเกินไป และการตรวจช่องปากยังมีแนวโน้มว่าจะพบแผลในช่องปากจากฟันบริเวณด้านในงอกมากเกินและอาจมีขอบแหลมคมไปบาดกระพุ้งแก้ม ทำให้กระต่ายเคี้ยวไม่สะดวก ซึ่งนอกจากแผลในช่องปากแล้ว เมื่อฟันงอกยาวขึ้นภายในช่องปาก ฟันบนและฟันล่างจะกระทบกันในขณะที่กระต่ายเคี้ยวสร้างแรงกดบนรากฟันที่อยู่ใต้ขอบเหงือกและนำไปสู่การคลายตัวของฟันและทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันและเหงือก อาหารและแบคทีเรียก็จะสามารถเข้าไปติดอยู่ในช่องว่างเหล่านี้ ได้เหนี่ยวนำไปสู่การติดเชื้อที่รากฟันและเกิดฝีในกรามตามมา ซึ่งเมื่อลุกลามมากขึ้นบริเวณใต้กรามจะขยายบวม แข็งขึ้นจนมีลักษณะเป็นลูกบอลลูกเล็กๆ ได้เลยซึ่งโชคไม่ดีที่เจ้าของหลายคนสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้ก็มักจะเป็นเยอะมากแล้ว เนื่องจากกระต่ายบางตัวที่มีฝีที่กรามก็ยังคงกินอาหารได้ปกติดีเลย

วิธีรักษาโรคฟันในกระต่าย

เมื่อกระต่ายมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ก็มักจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขและกระต่ายหลายตัวยังต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิตด้วยการกรอเล็มฟันซ้ำทั้งฟันหน้าและฟันหลังด้านในโดยสัตวแพทย์ภายใต้การวางยาสลบจำเป็นต้องมีการผ่าตัดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อเอาฟันที่ติดเชื้อและกระดูกที่ตายออกเมื่อเกิดฝีรากฟัน กระต่ายที่เป็นโรคฟันกำเริบอาจต้องได้รับการรักษาซ้ำๆ ด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ และการให้อาหารด้วยเข็มฉีดยาเสริม และบางตัวจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทางทันตกรรมซ้ำๆ เพื่อจัดการมากกว่าที่จะแก้ปัญหา

วิธีดูแลฟันกระต่าย

แม้ว่าฟันของกระต่ายจะไม่จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างมืออาชีพเหมือนฟันของสุนัขและแมว แต่จำเป็นต้องได้รับการตรวจฟันอย่างน้อยปีละครั้งโดยสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกระต่าย และวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลฟันกระต่ายคือการหมั่นสังเกตสัญญาณเริ่มต้นและการตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น

1. ตรวจศรีษะและใบหน้า  :  ให้กระต่ายของคุณนั่งอยู่ข้างหน้าและหันหน้าเข้าหาคุณ ให้ใช้ปลายนิ้วมือกดเบาๆ ที่ด้านข้างของใบหน้าและใต้กรามด้านข้าง ควรรู้สึกว่าทั้งสองข้างสมมาตรและไม่มีส่วนที่นูนหรือบวมข้างใดข้างหนึ่งออกแรงกดที่ด้านข้างของขากรรไกรให้แน่นขึ้นเล็กน้อย หากกระต่ายสะดุ้งซ้ำๆ เมื่อคุณไปถึงจุดหนึ่งอาจหมายความว่ามีบางอย่างเจ็บปวดอยู่ในปากใต้คางจะเป็นจุดที่จั๊กจี้มากสำหรับกระต่ายหลายตัวและยังต่อมกลิ่นที่อยู่ตรงนี้อาจทำให้รู้สึกผิดปกติหรือเป็นหลุมเป็นบ่อได้เล็กน้อย เรียนรู้ว่ากระต่ายของคุณมักจะยอมให้สัมผัสบริเวณนี้มากน้อยแค่ไหนและรู้สึกอย่างไรเมื่อปกติ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยอาจบ่งบอกถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้

2. ตรวจสอบฟันหน้า : ฟันหน้าจะอยู่ที่ส่วนหน้าของกรามมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย โดยให้กระต่ายนั่งอยู่บนตักหรือนั่งหันหน้าไปทางเดียวกับคุณ ค่อยๆ แยกริมฝีปากกระต่ายออกในลักษณะ “ยิ้ม” หากกระต่ายนั่งอยู่ ให้ใช้ร่างกายของคุณเพื่อป้องกันไม่ให้เธอถอยหลังฟันซี่ใหญ่สี่ซี่ที่คุณเห็น (บน 2 ซี่และล่าง 2 ซี่) คือฟันหน้าตรวจดูว่าเหงือกไม่หลวมและเนื้อเยื่อเหงือกมีสีชมพูสุขภาพดี (ไม่ใช่สีแดงหรือสีม่วง) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าฟันสบกันและสึกหรออย่างถูกต้องการให้กระต่ายที่เคี้ยวไม่สนิทยิ่งเคี้ยวสิ่งอื่นใดเพื่อแก้ปัญหาไม่ได้ช่วยแก้ไขความผิดปกติ ควรปรึกษาสัตวแพทย์หากพบความผิดปกตินี้ ตรวจหาเส้นผมหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่ติดอยู่รอบๆ ฟัน

3. ตรวจปัญหาเกี่ยวกับฟันกระพุ้งแก้ม :  ฟันกรามหรือฟันแก้มของกระต่ายอยู่ลึกเกินกว่าจะตรวจสอบได้ง่ายด้วยตนเอง แต่เจ้าของสามารถดูสัญญาณที่แสดงออกของอาการปวดฟันกระพุ้งแก้มได้ เช่น น้ำลายไหลหรือความชื้นรอบปาก บวม ร้อน หรือปวดบริเวณกรามหรือใต้คาง การเปลี่ยนแปลงความชอบด้านอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอาหารที่แข็งไปเป็นอาหารอ่อน) แสดงความสนใจในอาหารแต่ไม่กินน้ำหนักลดมีกลิ่นเหม็นจากปาก เสียงฟันบด (ไม่ใช่เสียงเพอร์ที่มีความสุข) พฤติกรรมแยกตัวหรือไม่พอใจ

…………………………
บทความโดย : 
สพ.ญ.สรัญญา เกษรบัว
…………………………
เอกสารอ้างอิง

https://rabbit.org/2011/07/oral-health-in-rabbits/

https://www.petmd.com/rabbit/general-health/rabbit-dental-care-101

...............................................

#เครื่องมือสัตวแพทย์​ #คลินิกสัตวแพทย์​ #โรงพยาบาลสัตว์​ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง​ #อุปกรณ์สัตวแพทย์​ #BEC​ #becvet​ #BECpremium  #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง#อุปกรณ์สัตวแพทย์ #สัตว์เลี้ยง #Polyglactine910  #Sacryl

Share this entry