Home pet safety

มาสำรวจและสร้างความปลอดภัยให้สัตว์เลี้ยงก่อนออกจากบ้านกันนะคะ

เพราะในชีวิตประจำวันของเรา จะมีสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์บางประเภทที่เราใช้อยู่อย่างเคยชิน แต่ สิ่งเหล่านี้สามารถก่ออันตรายร้ายแรงกับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราได้หากพวกเขาสัมผัส สูดดมหรือกินเข้าไป ดังนั้น มาสำรวจกันหน่อยว่าแต่ละห้องของบ้านนั้น มีอะไรบ้างที่สามารถก่อปัญหาได้และเตรียมตัวป้องกันให้สัตว์เลี้ยงของเราปลอดภัยกันเถอะค่ะ

อันตรายในห้องครัว

อาหารของเจ้าของที่สามารถก่อปัญหาเมื่อสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปได้ เช่น เมล็ดกาแฟ, อาหารไขมันสูง ชา ช็อคโกแลต อโวคาโด แอลกอฮอล แป้งยีสด์(yeast dough) องุ่น ลูกหยี เกลือ ถั่วแมคคาเดเมีย หัวหอม กระเทียม และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไซลิทอล

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่สามารถใช้งานกับบริเวณที่สัตว์เลี้ยงใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ แต่ อันตรายสามารถเกิดได้หากเราใช้หรือเก็บไว้ผิดวิธี เช่น สารฟอกขาว(bleach) สามารถก่อปัญหากับระบบทางเดินอาหารได้ โดยจะพบอาการปวดเกร็งท้อง น้ำลายไหล อาเจียน หรือท้องสีย และหากได้รับเข้าไปปริมาณมากก็จะทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้เช่นกัน การสัมผัสกับสารโดยตรงก็อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้ และ เราพบว่าแมวมักจะมีปัญหากับสารเคมีที่มี phenol เป็นส่วนประกอบ

ยากำจัดแมลงหรือยากำจัดหนู

ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดสำหรับ”สุนัขเท่านั้น” ก็ไม่ควรนำมาใช้กับแมวหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ และ ในปัจจุบันมีการพัฒนายากำจัดหนูที่อันตรายมากขึ้นและไม่มียาที่ใช้ล้างผิดจากร่างกายได้ ดังนั้น การเก็บยาอันตรายเหล่านี้ให้อยู่ในที่ที่สัตว์เลี้ยงไม่มีทางเข้าถึงได้จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
ยาของมนุษย์ ที่บางครั้งเป็นยาสามัญที่เราใช้กันเป็นประจำ กลับก่อให้เกิดปัญหาและอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงอย่างคาดไม่ถึง เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (เช่น แอสไพลิน ไอบูโปรเฟน หรือ นาโปรเซน) ยาลดไข้(พาราเซตามอล) วิตามินต่างๆ ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาแก้เครียด จึงควรเก็บยาเหล่านี้ให้มิดชิดอยู่เสมอ

อันตรายในห้องน้ำ

สบู่สำหรับอาบน้ำหรือล้างมือ ยาสีฟันและครีมกันแดด หากสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปก็จะก่อให้เกิดปัญหากับทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนหรือท้องเสีย จึงควรเก็บให้พ้นจากการเข้าถึงของสัตว์เลี้ยงให้ดี รวมทั้ง ควรปิดฝาของโถสุขภัณฑ์ให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำจากโถซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน

อันตรายในห้องนอนและห้องนั่งเล่น

เครื่องหอมต่างๆที่เราใช้สร้างบรรยากาศ อาจจะมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดแผลในช่องปากหรือปัญหาอื่นๆหากสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปได้ หรือ แม้แต่ลูกเหม็น(mothball) เพียงลูกเดียวก็สามารถทำให้สุนัขหรือแมวป่วยได้ เพราะลูกเหม็นจะมีส่วนประกอบของแนพทาลีน(naphthalene) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ตับ ไตและทำลายระบบเลือด สัตว์เลี้ยงจะมีอาการสมองบวม ชัก โคม่า หรือหากสูดดมเข้าไปก็จะทำลายระบบทางเดินหายใจ และหากกินเข้าไปก็อาจทำให้ตายได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ก่ออันตรายให้สัตว์เลี้ยงได้อีกหากสัตว์เลี้ยงกินเข้าไป เช่น ยาสูบ(tobacco) เหรียญเงินต่างๆที่อาจมีส่วนประกอบของโลหะอันตรายอย่างสังกะสี และแบตเตอรี่ของเครื่องใช้ไฟฟ้า

อันตรายในสวนหลังบ้าน

ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยสำหรับต้นไม้ หรือ แม้แต่น้ำมันหล่อลื่นต่างๆสำหรับเครื่องยนต์ที่เจ้าของเก็บไว้ก็สามารถก่ออันตรายให้กับสัตว์เลี้ยงที่อาจจะเผลอกินเข้าไปได้ ดังนั้น ควรจัดการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ห่างจากสนามหรือบริเวณที่เพิ่งมีการใช้ยาไปจนกว่าจะปลอดภัยตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ เพราะหากสัตว์เลี้ยงสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นโดยตรง การที่พวกเขาเลียขนแต่งตัวอาจทำให้ได้รับสารพิษและก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้

เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเกิดจากการได้รับสารพิษเข้าไป

การพยายามทำให้อาเจียนอาจไม่ได้ผลที่ดีเสมอไป เพราะสารเคมีบางชนิดยิ่งจะอันตรายมากขึ้นเมื่ออาเจียนย้อนกลับออกมา หรือ หากสัตว์เลี้ยงอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้สึกตัว การพยายามกระตุ้นให้อาเจียนด้วยตัวเองจะยิ่งอันตรายหากมีการย้อนกลับของสารเคมีหรือสิ่งที่พยายามป้อนกระตุ้นอาเจียนกลับเข้าไปในทางเดินหายใจของสัตว์เลี้ยงโดยบังเอิญ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือควรรีบพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ให้ไวที่สุด

…………………………
บทความโดย : 
สพ.ญ.พิชญาภา ชมแก้ว
…………………………

เอกสารอ้างอิง

Household Hazards | American Veterinary Medical Association (avma.org)

....................................
#เครื่องมือสัตวแพทย์​ #คลินิกสัตวแพทย์​ #โรงพยาบาลสัตว์​ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง​ #อุปกรณ์สัตวแพทย์​ #BEC​ #becvet​ #BECpremium #ความอันตรายของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน

 

Share this entry