Osteoarthritis (OA)
โรคข้อเสื่อม
เป็นความผิดปกติจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนที่หุ้มผิวข้อต่อ และอาจมีการสูญเสียน้ำเลี้ยงข้อต่อหรือเยื่อหุ้มข้ออักเสบร่วมด้วยข้อที่มักพบปัญหา เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น
สาเหตุ ของโรคข้อเสื่อมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยต่างๆ ได้แก่
อายุ สัตว์ที่มีอายุมากจะเกิดความเสื่อมของข้อ
สายพันธุ์ เช่น โกลเด้นริทรีฟเวอร์ เยอรมันเชพเพิร์ด ปอมเมอเรเนียน
โภชนาการ ที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญโตและน้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยง
เคยมีประวัติการบาดเจ็บของกระดูกและข้อ
กิจวัตรประจำวัน เช่น ออกกำลังกายหนัก มีการกระเทือน ของข้อ อาศัยบนพื้นที่ลื่น
อาการที่บ่งชี้ ว่าน้องหมาของเราเป็นโรคข้อเสื่อม คือ
ไม่ค่อยทำกิจกรรมไม่เล่นเหมือนเคย
นั่ง, นอน มากกว่า เดิน,วิ่ง
ก้าวเดินบนทางลาดชันหรือขึ้นลงบันได ลำบาก
มีอาการขากะเผลกไม่ลงน้ำหนักบนขาข้างที่เจ็บ
ร้องเจ็บหรือแสดงอาการปวดบริเวณข้อ ในกรณีที่มีการอักเสบของข้อ อาจพบว่ามีข้อบวมและมีไข้ร่วมด้วย
การรักษา หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่ชัดโดยสัตวแพทย์แล้ว การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมมักจะต้องใช้การรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน เพื่อกำจัดปัจจัยโน้มนำต่างๆ และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด โดยการรักษาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. รักษาด้วยยา
การใช้ยาลดปวด ยาลดอักเสบ มักจะถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการในระยะแรก เพื่อลดการอักเสบ และลดความเจ็บปวด ทำให้สุนัขสามารถกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ อาจจะมีผลข้างเคียงจึงควรคอยติดตามอาการและใช้ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ การใช้สารเสริมอาหารต่างๆ เช่น
กลูโคซามีนและคอนดรอยติน ที่เป็นส่วนประกอบของน้ำเลี้ยงข้อต่อและช่วยในการชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อน
โอเมก้า3 (omega-3 fatty acid) ที่มีผลการวิจัยว่าสามารถช่วยลดการอักเสบและลดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อได้
การใช้สารเสริมอาหารจะมีผลข้างเคียงน้อย และสามารถให้ในระยะยาวได้
2.รักษาโดยไม่ใช้ยา
2.1 การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายเบาๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการ กระเทือนข้อต่อ เช่น ว่ายน้ำ หรือเดินบน ลู่วิ่งในน้ำ
2.2 การทำกายภาพบำบัด เพื่อคงสภาพความ แข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยควร มีการวางโปรแกรมการทำกายภาพโดย สัตวแพทย์ อาจมีการบำบัดด้วยเลเซอร์ อัลตราซาวด์ หรือกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อลดความเจ็บปวดและฟื้นฟูเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบ
การรักษาข้อเสื่อมมักใช้การรักษาทางยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยาไปพร้อมๆ กัน หากมีการรักษามาเป็นเวลานาน แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง สัตวแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งสภาพและความรุนแรงของโรค รวมถึงความพร้อมของตัวสัตว์เลี้ยงและเจ้าของด้วย
...................................................
บทความโดย : BEC
#BEC #becvet #เครื่องมือสัตวแพทย์ #อุปกรณ์สัตวแพทย์
Share this entry