Heartworm in animals

ยุงกัดคันยิบๆ บางคนยิ่งแล้วใหญ่ที่มีอาการแพ้ยุงอีก เป็นผื่นแดงคันไปเป็นแถบๆเลยใช่มั้ยคะ

น้องหมาน้องแมวที่มีขนฟูปุกปุย พวกเขาก็ใช่จะรอดพ้นจากเจ้าวายร้ายปากแหลมพวกนี้ เพราะมันก็มีบางบริเวณเช่น จมูก สันจมูก ใบหู หรือ พุงกะทิของพวกเขาที่ขนบางกว่าบริเวณอื่นให้เจ้าวายร้ายพวกนี้ฝากรอยแผลแสบๆคันๆ ไว้ได้เช่นกัน 

นอกจากความคันและความน่ารำคาญที่ยุงพวกนี้ก่อกวนน้องๆ ทั้งในยามกลางวันกลางคืนได้แล้วนั้น น้องแมวน้องหมาบางตัวก็มีอาการแพ้ยุงได้เหมือนๆ กับเราเช่นกัน อาการแพ้ยุงก็จะมีไปตั้งแต่ คันเกา ผื่นแดง หรือบางตัวอาจจะมีอาการบวมของบริเวณที่โดนกัดร่วมด้วย

ภาพที่ 1 สุนัขที่แพ้ยุงจะแสดงอาการบวมบริเวณสันจมูกและรอบดวงตา บางครั้งอาจรุนแรงมากจนต้องได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์

ที่มาของภาพ :https://bmcvetres.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12917-020-02622-x

แต่นั้นยังไม่ร้ายที่สุดที่ยุงเล็กๆ จะสร้างความเสียหายได้ เพราะตัวร้ายจริงๆ คือของฝากที่ยุงทิ้งไว้กับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรา นั่นก็คือ ตัวอ่อนพยาธิเล็กๆ จากน้ำลายของยุงที่คืบคลานเข้าไปเติบโตเป็นพยาธิตัวกลมขนาดใหญ่ในหัวใจของน้องๆ ที่เรียกว่า พยาธิหนอนหัวใจ นั่นเอง

พยาธิหนอนหัวใจพบการติดเชื้อได้มากที่สุดคือในสุนัข ตามมาด้วยแมวและเฟอเรท รวมทั้งเพื่อนๆ ในสายตระกูลของพวกเขาก็สามารถรับเชื้อและเจ็บป่วยได้เช่นกัน 

ความน่ากลัวของพยาธิหนอนหัวใจ คือ ผลรวมของขนาดตัวและพื้นที่ที่มันอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงเรารวมกัน เจ้าของลองนึกภาพว่ามีพยาธิตัวกลมๆยาวๆ ขนาด 12 นิ้วขดตัวอยู่ในหัวใจของลูกๆ เราสิค่ะ แถมเขายังอยู่กันเป็นครอบครัว แล้วคุณว่า พวกพยาธิเหล่านี้จะสร้างปัญหาอะไรได้บ้าง

คุณเริ่มรู้สึกว่ามันน่ากลัวแล้วมั้ยคะ งั้นเรามาทำความรู้จักพวกเขาและหาทางป้องกันลูกๆ ของเรากันเถอะ
 

พยาธิหนอนหัวใจ มีชื่อภาษาละตินว่า Dirofiralia immitis เป็นพยาธิตัวกลมที่มีช่วงเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตจนเต็มวัยค่อนข้างนานกว่าพยาธิตัวกลมอื่นๆ คือ 7-9 เดือน(Kotani and Powers, 1982) ในระหว่างช่วงชีวิตที่ยาวนานนี้จึงต้องอาศัยสัตว์พาหะและการส่งต่อตัวอ่อนไปสู่สัตว์กลุ่มอื่นเพื่อให้วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจสมบูรณ์ สุนัขและสัตว์ในตระกูลสุนัขเป็นสัตว์กลุ่มเป้าหมายที่พยาธิหนอนหัวใจเลือกเป็นที่อาศัยเพื่อเติบโต นอกจากนี้ แมวและเฟอเรทก็เป็นสัตว์ที่พยาธิกลุ่มนี้เลือกอยู่อาศัยรองลงมาตามลำดับ ความแตกต่างคือ ในสุนัขจะมีช่วงของการแพร่กระจายสู่ยุง(microfilaremia)ได้ยาวนานกว่าแมวและเฟอเรท(McCall et al,2008b)

พยาธิหนอนหัวใจมีตัวอ่อนในระยะติดต่อจากสุนัขสู่ยุงที่มีชื่อภาษาลาตินว่า Microfilaria(ไมโครฟิลาเรีย) การติดต่อของพยาธิเหล่านี้ต้องอาศัยยุงเป็นพาหะ โดยตัวอ่อนเหล่านี้จะเข้าไปเจริญเติบโตต่อที่ malpighian tubules(ท่อมัลพีเจียน)ของยุงและพัฒนาต่อเป็น Larval stageระยะ1(L1)-ระยะ2(L2)-และเข้าสู่ระยะติดต่อจากยุงสู่สุนัขที่ระยะL3(infective stage) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ระยะนี้ ตัวอ่อนก็จะเดินทางผ่านช่องว่างในตัวของยุงเพื่อย้ายไปที่ส่วนหัวและปากของยุง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งต่อไปยังสุนัข แมว หรือ เฟอเรท และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยต่อไป(Taylor, 1960)

ช่วงการเติบโตจาก microfilaria เป็น L3 จะมีปัจจัยจาก อุณหภูมิ(เหมาะที่สุดคือ 27 องศาเซลเซียส)และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80% ซึ่งจะใช้เวลา 10-14วันในการเติบโต แต่ถ้าอากาศเย็นกว่านี้จะใช้เวลานานขึ้น(Kartman 1953; Slocombe et al, 1989)

เมื่อยุงกัด ส่วนปากของยุงที่เหมือนเข็มจะแทงผ่านผิวหนังลงไปและส่วนของริมฝีปากจะร่นถอยกลับไปทำให้มีของเหลวที่เรียกว่า hemolymph ที่มี L3 ปนอยู่ หยดลงบนผิวหนังและเคลื่อนที่ผ่านรูที่ปากของยุงเจาะไว้ก่อให้เกิดการติดเชื้อ(McGreevy et al,1974)

ภายหลังจากที่เกิดการติดเชื้อ พยาธิเหล่านี้จะเริ่มพัฒนาเพศของตัวเองในทันที ซึ่งอาจจะไวเพียง 3 วันหลังถูกยุงกัดเท่านั้น ตัวอ่อนเหล่านี้จะพัฒนาตัวเองจากระยะ L3 เป็น L4 บริเวณชั้นใต้ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงและเดินทางผ่านชั้นกล้ามเนื้อไปพร้อมๆกับการเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (Juvenile) โดยใช้เวลาประมาณ 50-70 วัน และจะเจาะเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด

เมื่อเข้าสู่หลอดเลือดได้พยาธิเหล่านี้ก็จะเดินทางแบบด่วนตรงเข้าสู่ปอดและหัวใจ(Kotani and Powers, 1982; Kume and Itagaki, 1955; Lichtenfels et al, 1985) โดยจะสามารถเข้าสู่ระบบหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจกับปอดได้ไวที่สุดประมาณ67วัน และ เข้ามาได้ครบที่90-120หลังถูกยุงกัด

เมื่อเดินทางถึงหลอดเลือดแดงระหว่างหัวใจและปอด(Pulmonary Arteries) พยาธิวัยรุ่นเหล่านี้ก็จะมีขนาดตัวยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว และจะพัฒนาเป็นพยาธิโตเต็มวัย (Mature)ที่หลอดเลือดนี้ โดยพยาธิตัวเมียจะใหญ่ขึ้นได้อีก10เท่า จนสามารถยาวได้ถึง 10-12นิ้ว และจะใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งจึงสามารถผลิตลูกหลานที่เรียกว่า Microfilaria เข้าสู่กระแสเลือดของสุนัขเพื่อรอให้ยุงพาหะมากัดและรับเชื้อพยาธินี้ส่งต่อไปยังสัตว์เลี้ยงอื่นต่อไป

สรุประยะเวลาที่พยาธิหนอนหัวใจใช้เข้าสู่ระยะต่างๆนับจากวันที่ยุงกัด

ใช้เวลา 3-12 วันในการพัฒนาจาก L3-L4

ใช้เวลา 50-70 วันในการพัฒนาเป็นพยาธิวัยรุ่น

ใช้เวลา 67-90 วันในการเดินทางมาถึงหลอดเลือดแดงปอด

ใช้เวลา 120 วันในการเติบโตเป็นพยาธิโตเต็มวัย

ใช้เวลา 180 วันในการผลิตพยาธิระยะติดต่อเข้าสู่กระแสเลือด

เมื่อพยาธิช่วงวัยรุ่นเดินทางมาถึงหลอดเลือดปอด ก็จะถูกดันไปตามแรงความดันเลือดเข้าไปติดในหลอดเลือดเล็กๆ(Rawlings, 1980) แล้วพอพยาธิขยายโตเป็นตัวเต็มวัยก็จะอุดกั้นหรืออุดตันหลอดเลือดเล็กๆนั้นไปด้วย โดยสุนัขแต่ละพันธุ์ที่มีขนาดตัวต่างกันในช่วงที่มีการติดเชื้อก็จะมีพยาธิอยู่ในตำแหน่งของหลอดเลือดที่ต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การที่มีพยาธิหนอนหัวใจเข้าไปอุดกั้นหลอดเลือดแดงปอด ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอวัยวะที่สืบเนื่องกันให้เกิดปัญหา นั่นก็คือ หัวใจ หลอดเลือดดำใหญ่ ตับ ไต ซึ่งผลที่ตามมาอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว(Atwell and Buoro, 1988; Ishihara et al, 1978; Jackson, 1975)

มาถึงตรงนี้ คิดว่าเจ้าของทุกท่านคงเห็นด้วยกับชื่อบทความของเราในตอนนี้แล้วนะคะ ว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ” จริงๆ

แล้วเราควรป้องกันสัตว์เลี้ยงของเราอย่างไรได้บ้าง

การป้องกันแบ่งออกได้ 3 ส่วน

1. ลดการพบปะกับฝูงยุง

เนื่องจากเมืองไทยเป็นประเทศในภูมิอากาศร้อนชื้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของยุงเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเดือนไหนเวลาไหนก็มียุงเป็นเพื่อนเราเสมอ ยิ่งหน้าฝนที่มีน้ำขังแน่นิ่งตามที่ต่างๆด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ยุงสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้น การดูแลบริเวณรอบที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากสภาวะที่เหมาะต่อการวางไข่ของยุง เช่น แอ่งน้ำขัง ภาชนะที่ทิ้งไว้ในสวน พุ่มไม้รกทึบ หรือฝาท่อระบายน้ำที่ปิดไม่สนิท ก็จะช่วยลดปริมาณยุงลงได้ รวมไปถึงการลดโอกาสที่สัตว์เลี้ยงและยุงจะพบกันให้น้อยลง ทั้งในเรื่องของการเลือกเวลาพาออกไปเดินเล่นที่เป็นช่วงยุงน้อยๆ ก็จะช่วยได้มากทีเดียว

 

 

2. ลดโอกาสถูกยุงกัด

เพราะเราระวังแค่ไหน ยุงผู้หิวโหยก็คงหาโอกาสเข้าใกล้สัตว์เลี้ยงของเราจนได้ ดังนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ในการไล่ยุงหรือกำจัดยุงเมื่อเข้ามาเกาะสัตว์เลี้ยง ก็จะช่วยป้องกันได้ประสิทธิภาพที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน มีการผลิตยาหยดผิวหนังภายนอกเพื่อไล่ยุง โดยพบว่า สาร Repellents ซึ่งเป็นสารไล่แมลงเหล่านี้ สามาถช่วยลดโอกาสที่ยุงจะกัดได้มากถึง 95%(McCall et al, 2017a) และช่วยลดโอกาสทั้งการรับการติดเชื้อจากยุงสู่สุนัข และลดการส่งต่อจากสุนัขไปที่ยุงเช่นกัน

 

3. ลดโอกาสติดเชื้อเมื่อถูกยุงกัด

ปราการด่านสุดท้ายที่จะป้องกันยุงผู้หาญกล้าจนสามารถเจาะผิวหนังดูดเลือดของสัตว์เลี้ยงเราได้จนสำเร็จ ก็คงจะต้องอาศัยยาที่มีฤทธิ์ในการกำจัดตัวอ่อนพยาธิที่เข้าสู่ร่างกายให้ได้ก่อนที่พวกมันจะเจริญเติบโตและก่อความเสียหายได้นั่นเอง การใช้ยากลุ่ม Macrocyclic lactone ถูกผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและสามารถใช้กับสัตว์เลี้ยงได้(ตามที่ผู้ผลิตแต่ละบริษัทฯกำหนด) ซึ่งลูกสุนัขและแมวควรได้รับยาป้องกันนี้ไวที่สุดที่สามารถใช้ได้ ซึ่งไม่ควรช้ากว่าอายุ 8 สัปดาห์ เนื่องจากยากลุ่มนี้สามารถจัดการพยาธิได้ที่ระยะ L3และL4 เท่านั้น(ซึ่งใช้เวลา 50-70 วันในร่างกาย) และควรให้สุนัขและแมวได้รับยาป้องกันนี้อย่างต่อเนื่องทุกๆ 30 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีตัวอ่อนของพยาธิที่สามารถเล็ดลอดจนเติบโตเป็นพยาธิหนอนหัวใจที่โตเต็มวัยได้

ลูกสุนัขที่ได้รับยาป้องกันหลังอายุ 8 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจหาการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจหลังจากรับยาครั้งแรก 6 เดือน และตรวจทุกๆ ปี

ก่อนเริ่มการป้องกันในสุนัขที่อายุมากกว่า 7 เดือน สุนัขควรได้รับการตรวจ Antigen หรือ microfilaria ก่อนทุกครั้ง

 

สำหรับในประเทศไทย สภาพภูมิอากาศ ความชื้น และรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของเราที่จะให้น้องๆเขาอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ การป้องกันที่เหมาะกับบ้านเราอาจจะเป็นการเอาทั้ง 3 รูปแบบการป้องกันมาประกอบเข้าด้วยกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงของเรา เพราะหากเรากำจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพบปะฝูงยุงออกไปได้แล้ว แต่พื้นที่ของเราเป็นบริเวณที่มียุงชุกชุมก็ควรจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ไล่และกำจัดแมลง ร่วมกับการให้ยากลุ่ม macrocyclic lactone เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับสุนัขและแมวอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตและสัตวแพทย์แนะนำด้วยนะคะ

และสำหรับในบทความหน้า ทางผู้เขียนจะขอเสนอความแตกต่างของการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข แมว และ เฟอเรท และความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่เป็นยากลุ่ม Macrocyclic lactone ว่ามีชนิดใดบ้าง และมีข้อบ่งใช้แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้เพื่อให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงและ life style ของพวกเขากันค่ะ
............................................................

ที่มา: Heartworm Guidelines Official guidelines from the American Heartworm Society: https://d3ft8sckhnqim2.cloudfront.net/images/pdf/AHS_Canine_Guidelines_11_13_20.pdf?1605556516
ขอบคุณภาพจาก : Heartworm Life Cycle for Professionals
https://youtu.be/hvWHhd0DmSg

............................................................

บทความโดย : สพ.ญ.พิชญาภา  ชมแก้ว

#BEC  #becvet #เครื่องมือสัตวแพทย์  #อุปกรณ์สัตวแพทย์ 

Share this entry