Oxygen Delivery

การใช้ออกซิเจนบำบัดมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มระดับออกซิเจนที่ขนส่งไปยังเนื้อเยื่อ หรือ Oxygen Delivery (OD) ทั้งนี้การที่เนื้อเยื่อจะขาดออกซิเจน หรือไม่ยังขึ้นกับความต้องการออกซิเจนของเนื้อเยื่อ (Oxygen Demand) ด้วย กล่าวคือ หากค่า OD เป็นปกติแต่ Oxygen Demand ของเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นกว่าปกติก็สามารถทำให้เนื้อเยื่อขาดออกซิเจนได้ 

วิธีการในการให้ออกซิเจนมีอยู่หลายวิธี คือ

1. การให้โดยการดมแบบ Flow-by คือ การจ่อปลายท่อออกซิเจนให้ห่างจากปาก และจมูกของสัตว์ประมาณ 1-2 นิ้ว บางรายสามารถใช้หน้ากากออกซิเจน (Mask) สวมเข้าที่บริเวณใบหน้า ทั้งนี้ควรเลือกวิธีที่สัตว์ยอมโดยไม่ต้องบังคับ เพราะการบังคับจะเป็นการเพิ่มระดับการใช้ออกซิเจนของร่างกายสัตว์ และเร่งให้สัตว์ตายเร็วขึ้นได้
2. การจัดทำระบบการให้ออกซิเจนโดยใช้ Elizabethan Collar หรือ Buster collar ดังแสดงในรูป วิธีนี้ก็ได้ผลดีในสัตว์บางตัวที่คุ้นเคยกับการใส่ collar  โดยเราจะใช้แร็พห่ออาหารมาติดที่บริเวณด้านหน้าของ collar โดยเว้นช่องว่างไว้ประมาณ 30-40% ของพื้นที่วงกลมเพื่อระบายความชื้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

3. การนำเข้า Oxygen Cage  หรือ Buster ICU Oxygen cage  ดังแสดงในรูปเป็นวิธีที่เหมาะกับสัตว์ขนาดเล็ก และแมว โดยก่อนนำสัตว์เข้าตู้ควรเติมออกซิเจนให้เต็มตู้เสียก่อน โดยอาจใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีขึ้นกับขนาดของตู้ ระหว่างให้ออกซิเจนควรมีการดูแลเรื่องของอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศภายในตู้ด้วย อาจมีการเติม Soda Lime เข้าไว้ในระบบเพื่อทำการดูดความชื่น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

4. การสอดท่อเข้าทางจมูก (Intranasal Oxygen) ดังรูป เราจะสอดคล้ายการสอดท่ออาหาร แต่ให้ปลายท่ออยู่ในตำแหน่งหัวตา (Nasal Canthus) และต้องไม่ลืมที่จะตัดเพิ่มรูที่ปลายท่ออีกสักหนึ่งรูเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลไหม้จากออกซิเจนในเยื่อบุโพรงจมูก วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มักกระทำกับสุนัขที่มีขนาดโตสักหน่อยเพราะสามารถทนต่อการใส่ท่อได้มากกว่าสุนัขเล็กหรือแมว หลายครั้งเราทำการใส่ท่อคาไว้ที่จมูกหลังกระบวนการ CPCR เพื่อเตรียมตัวสัตว์ให้พร้อมต่อการให้ออกซิเจนในระยะยาวหลังการกู้ชีพ

5. การสอดท่อผ่านเข้าทอลม (Transtracheal Oxygenation) ส่วนมากจะใช้วิธีนี้ในกรณีที่สัตว์มีภาวะ Upper-airway blockage เพื่อให้ออกซิเจนกับสัตว์แบบฉุกเฉินจนสัตว์ Stable พอสมควรก่อนที่จะดำเนินการนำเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากตัวสัตว์ต่อไป

...................................

อ้างอิง :The Journal of Thai Veterinary Practitioners (2013) / วารสารสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (2556) เล่มที่ 25

#BEC  #becvet #เครื่องมือสัตวแพทย์  #อุปกรณ์สัตวแพทย์ 

 

Share this entry