Dermatophyte test fungus culture
ทำไมต้องเพาะเชื้อรา
การเพาะเชื้อรา เป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อราจากตัวอย่าง เช่น ขน สะเก็ดรังแค ซึ่งมีปริมาณน้อยให้เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค และ ประเมินผลการรักษา
ชนิดของอาหารเลี้ยงเชื้อที่นิยมใช้เพาะเชื้อรา dermatophyte
ในทางสัตวแพทย์อาหารเลี้ยงเชื้อที่นิยมใช้ในการเพาะเชื้อรา dermatophyte มี 2 ชนิดคือ Sabouraud’s dextrose agar (SDA) และ Dermatophyte test medium (DTM) ซึ่งความแตกต่างของอาหารเลี้ยงเชื้อ 2 ชนิดนี้คือ Sabouraud’s dextrose agar (SDA) สามารถใช้เพาะได้ทั้งเชื้อราและยีสต์ ส่วน Dermatophyte test medium (DTM) เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ SDA ที่มีการเติมสารต้านเชื้อรา และแบคทีเรีย รวมถึง pH indicator เพื่อเพาะเชื้อรากลุ่ม dermatophyte โดยเฉพาะ
เทคนิคการเก็บตัวอย่างให้ได้เชื้อ และลดการปนเปื้อน
1. เลือกวิธีเก็บตัวอย่างให้เหมาะกับลักษณะรอยโรค
- สัตว์ป่วยที่มีรอยโรคหลายตำแหน่ง หรือทั่วตัว, สัตว์ที่ไม่มีรอยโรคที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าเป็นพาหะ หรือ สัตว์ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วมาตรวจซ้ำ แนะนำให้ใช้ Mackenzie toothbrush technique ในการเก็บตัวอย่าง
** เมื่อจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างทั่วร่างกายให้เก็บตัวอย่างบริเวณรอยโรคที่สงสัยเป็นตำแหน่งสุดท้าย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากแปรงที่ใช้เก็บตัวอย่าง
- สัตว์ป่วยที่มีรอยโรคเฉพาะที่, มีรอยโรคชัดเจน ให้ใช้ forcep เก็บตัวอย่างบริเวณขอบของรอยโรค ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื้อราอาศัยอยู่ โดยการเก็บตัวอย่างที่เป็นเส้นขนให้จับที่ฐาน แล้วดึงออก หากปลายขนยาวเกินไปให้ตัดออก เพื่อให้ใส่ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้พอดี และลดการปนเปื้อนของเชื้อรากลุ่ม saprophyte หากมีรอยโรคมากกว่า 1 ตำแหน่งควรเก็บตัวอย่างจากหลายๆตำแหน่งของร่างกาย
- ในกรณีที่สงสัยการติดเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) เก็บตัวอย่างโดยการใช้แปรงปัดที่เล็บโดยตรง, ใช้ Forcep ถอนขนที่ขอบเล็บ รวมถึงใช้ใบมีดผ่าตัดขูดเล็บให้เป็นชิ้นเล็กๆ ในกรณีที่เล็บบิดผิดรูปร่าง ให้ตัดส่วนปลายของเล็บออก และขูดเก็บตัวอย่างบริเวณส่วนเว้าของเล็บ
** การเก็บตัวอย่างแต่ละวิธีสามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้ได้ตัวแทนตัวอย่างที่ดี
2. เลือกตำแหน่งเก็บตัวอย่างให้ดี เพื่อเพิ่มโอกาสพบเชื้อ
- สัตว์ป่วยที่ยังมีรอยโรคไม่ชัดเจน ให้เลือกเก็บตัวอย่างจากตำแหน่งที่มีโอกาสการเกิดรอยโรคสูง เช่น สุนัขกลุ่มทำงาน รอยโรคมักจะเกิดบริเวณหัว ขา เท้า และเล็บ ส่วนในแมวรอยโรคส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณหน้า ใบหู และเท้า
- สัตว์ป่วยที่มีรอยโรคชัดเจน ให้เก็บตัวอย่างจากขอบของรอยโรค
- ใช้เครื่องมือช่วยในการหาตำแหน่งเก็บตัวอย่าง
Wood’s lamp เลือกเก็บเส้นขนที่มีการเรืองแสงจากการส่อง Wood’s lamp
Dermoscope เลือกเก็บเส้นขนที่มีลักษณะ ทึบแสง โค้งงอ หัก และหนาเป็นเนื้อเดียวจากการส่องตรวจ
รูปแสดงเส้นขนที่ผิดปกติผ่าน Dermoscope
ที่มา Dermatophytosis in cats and dogs: a practical guide to diagnosis and treatment
3. เก็บตัวอย่างตามหลัก Sterile technique เพื่อลดการปนเปื้อน
- ใส่ถุงมือทุกครั้งก่อนเก็บตัวอย่าง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และการปนเปื้อน
- ฆ่าเชื้อบริเวณรอยโรคด้วยแอลกอฮอล์ 70% ก่อนเก็บตัวอย่างทุกครั้ง
- อุปกรณ์ที่ใช้เก็บตัวอย่างต้องฆ่าเชื้อ แปรงสีฟันใช้ของใหม่ หรือผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว
- ในกรณีที่ตัวอย่างติดที่ขนแปรงสีฟัน แนะนำให้ใช้เข็มฉีดยาปลอดเชื้อในการเขี่ยตัวอย่างลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ
วิธีการดูแลจานเพาะเชื้อหลังเก็บตัวอย่าง
1.เก็บจานเพาะเชื้อในซองซิป แยกแต่ละเคส เพื่อลดการปนเปื้อน ควรนำด้านอาหารเลี้ยงเชื้อขึ้น เพื่อลดการสูญเสียความชื้นจากอาหารเลี้ยงเชื้อ และใส่สำลีชุบน้ำหมาดในซองซิป เพื่อให้ความชื้นเพิ่มเติม
2. นำจานเพาะเชื้อเก็บไว้บริเวณที่ไม่โดนแสง และอยู่ในช่วงอุณหภูมิ 25 – 30 ºC
3. ตรวจดูจานอาหารเลี้ยงเชื้อทุกวัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสีที่อาหารเลี้ยงเชื้อ และการเกิดของโคโลนีเชื้อรา
แปลผล Dermatophyte test medium (DTM) ต้องดูอะไรบ้าง
การเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อ
กลุ่มเชื้อรา Dermatophyte ใช้โปรตีนเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดภาวะเป็นด่างในอาหารเลี้ยงเชื้อ อาหารเลี้ยงเชื้อจึงเปลี่ยนสีจาก เหลือง เป็น แดง โดยการเปลี่ยนสีนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดโคโลนีของเชื้อรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภายใน 14 วัน
**ข้อควรระวัง ควรตรวจดูจานเพาะเชื้อทุกวัน เนื่องจากกลุ่มเชื้อราที่ไม่ใช่ Dermatophyte ในช่วงแรกจะใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในอาหารเลี้ยงเชื้อ จึงไม่มีการเปลี่ยนสี แต่เมื่อคาร์โบไฮเดรตในอาหารเลี้ยงเชื้อหมด เชื้อรากลุ่มนี้จะเปลี่ยนไปใช้โปรตีนในอาหาร ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อได้เช่นกัน แต่การเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อจะเกิดหลังการเกิดของโคโลนีเชื้อราหลายวัน และโคโลนีที่เกิดขึ้นมักจะมีสีดำ เทา เขียว
a. จานเพาะเชื้อราที่มีการเจริญของเชื้อปนเปื้อน ร่วมกับมีการเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อ
b. จานเพาะเชื้อราที่มีการเจริญของเชื้อรา Microsporum canis ร่วมกับมีการเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อ
c. โคโลนีที่เกิดขึ้น กลุ่มเชื้อรา Dermatophyte โคโลนีมักจะมีสีขาว (ไม่มีสีดำ เทา หรือเขียว) ลักษณะโคโลนีเป็นปุย หรือผงแป้ง
การส่องทางกล้องจุลทรรศน์
การนำโคโลนีที่เกิดขึ้นมาส่องตรวจแยกชนิดเชื้อราเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื้อราปนเปื้อนบางตัวอาจมีหน้าตาโคโลนีคล้ายกับเชื้อรา Dermatophyte รวมถึงมีการเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อร่วมด้วย ซึ่งการตรวจแยกชนิดของเชื้อรานี้สามารถทำเองได้โดยวิธีการ Scotch tape technique แล้วส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือในกรณีที่เชื้อราสามารถแยกชนิดได้ยาก แนะนำให้ส่งศูนย์ห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์ เพื่อตรวจแยกเชื้อ
การส่องตรวจแยกชนิดเชื้อรา จะดูจากลักษณะของ Macroconidia ซึ่งการเพาะเชื้อราในช่วงแรกอาจยังไม่พบ macroconidia แนะนำให้เพาะเชื้อไว้อย่างน้อย 21 วัน
ลักษณะของ Macroconidia ในเชื้อรา Dermatophyte แต่ละชนิด
Microsporum canis รูปร่างคล้ายกระสวยขนาดใหญ่ ผนังหนา มี terminal knob และด้านในมีการแบ่งช่อง 6 ช่องหรือมากกว่า
Microsporum gypseum รูปร่างทรงรีขนาดใหญ่ ผนังบาง ไม่มี terminal knob และด้านในมีการแบ่งช่องไม่เกิน 6 ช่อง
Trichophyton mentagrophytes รูปร่างคล้ายซิการ์ ผนังบาง โดยเชื้อราชนิดนี้จะพบปริมาณ Macroconidia ได้น้อย กว่า Microconidia ซึ่งจะอยู่กันเป็นกลุ่มคล้ายพวงองุ่น รวมถึงการพบเส้นใยเชื้อราที่มีลักษณะเกลียว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อรากลุ่ม Trichophyton
รูปแสดงลักษณะของ Macroconidia ของเชื้อรา Dermatophyte
a. Microsporum canis macroconidia
b. Microsporum gypseum macroconidia
c. Trichophyton mentagrophytes macroconidia
ที่มา : Diagnostics and Therapy in Veterinary Dermatology
รูปแสดง spiral hyphae ของ Trichophyton mentagrophytes
ที่มา : Small Animal Dermatology for Technicians and Nurses
ตารางสรุปลักษณะของเชื้อรา Dermatophyte ที่พบได้บ่อยในสุนัข และแมว
ชนิดของเชื้อรา Dermatophyte |
ลักษณะโคโลนี |
ลักษณะจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ |
Microsporum canis |
สีขาว เป็นปุย |
Macroconidia ทรงกระสวย ผนังหนา ด้านในมี ≥ 6 ช่อง |
Microsporum gypseum |
สีขาว น้ำตาล เป็นผงแป้ง |
Macroconidia ทรงรี ผนังบาง ด้านในมี ≤ 6 ช่อง |
Trichophyton mentagrophytes |
สีขาว น้ำตาล เหลือง ชมพู เป็นผงแป้ง หรือขนอ่อนๆ |
Macroconidia ทรงซิการ์ แต่พบได้น้อย Microconidia อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบได้มาก เส้นใยเชื้อราเป็นเกลียว (spiral hyphae) |
......................
Reference
- Diagnostics and Therapy in Veterinary Dermatology Edited by Dawn Logas
- Dermatophytosis: from bench to bedside by Natthanej Luplertlop and Supattra Suwanmanee
- Clinical Atlas of Canine and Feline Dermatology Edited by Kimberly S. Coyner
- Small Animal Dermatology for Technicians and Nurses Edited by Kim Horne, Marcia Schwassmann, Dawn Logas
- Dermatophytosis in cats and dogs: a practical guide to diagnosis and treatment by Karen Moriello
....................
บทความโดย
สพ.ญ.อภิลักษณ์ มหัธนันท์
..................
#เครื่องมือสัตวแพทย์ #คลินิกสัตวแพทย์ #โรงพยาบาลสัตว์ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง #อุปกรณ์สัตวแพทย์ #BEC #becvet #BECpremium #ครบจบที่BEC