wound dehiscence
โดยทั่วไปแผลผ่าตัดจะใช้เวลาหายประมาณ 7 – 10 วัน แต่ถ้าเกิดแผลแตกการรักษาต้องใช้เวลานานขึ้น ส่งผลเสียต่อทั้งตัวสัตว์เลี้ยง เจ้าของ รวมถึงสัตวแพทย์ ซึ่งภาวะแผลแตก เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่พบได้ทุกการผ่าตัด โดยการเกิดรอยแยกของแผล อาจจะเกิดที่บางส่วนของแผล หรือทั้งแผล อาจมีเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะหลุดออกมา หรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย
สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. แผลผ่าตัดมีแรงตึงมากเกินไป
2. ขอบแผลขาดเลือด หรือเป็นเนื้อตาย
3. การเลือกใช้วัสดุเย็บ และรูปแบบการเย็บที่ไม่เหมาะสม
4. แผลอับชื้น
5. บริเวณแผลผ่าตัดมีการติดเชื้อ, เป็นเนื้อตาย, มีสิ่งแปลกปลอม หรือเป็นเนื้องอก
6. สัตว์ป่วยไม่ได้รับการดูแล หรือป้องกันแผลหลังผ่าตัดที่เหมาะสม
7.การนำวัสดุเย็บออกเร็วเกินไป
8. แผลหายช้า เนื่องจากการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ ฯลฯ
สาเหตุส่วนใหญ่ข้างต้น เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยการป้องกันการเกิดแผลแตกนั้นมีขั้นตอนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัดและการดูแลหลังการผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัด
- ลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังสัตว์ป่วย โดยการอาบน้ำในเคสที่สามารถอาบน้ำได้ แนะนำให้อาบน้ำ 1 วันก่อนผ่าตัด โกนขน และฆ่าเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด น้ำยาฆ่าเชื้อที่นิยมใช้คือ chlorhexidine gluconate solution หรือ povidone-iodine solution โดยให้เลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่ง (iodine ทำให้ chlorhexidine ไม่ออกฤทธิ์)
- ฆ่าเชื้อห้องผ่าตัด
- การให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด
ขณะการผ่าตัด
- ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อ
- คอยดูแลปริมาณออกซิเจนในเลือดของสัตว์ป่วยไม่ให้ต่ำกว่า 95 %
- ไม่ให้อุณหภูมิร่างกายต่ำ เนื่องจากจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดลดลง ทำให้ขอบแผลขาดเลือด มีโอกาสแผลแตกได้
- เลือกวัสดุเย็บให้เหมาะสมกับเนื้อเยื่อ โดยคำนึงถึง
ความแข็งแรงของวัสดุเย็บ (tensile strength) ต้องเพียงพอต่อการหายของเนื้อเยื่อ
ขนาดของวัสดุเย็บ ควรใช้ขนาดเล็กที่สุด ที่สามารถพยุงขอบแผลเข้าหากันได้ เพื่อลดการเกิด suture reaction
ชนิดของเข็ม ต้องเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อเยื่อ เพื่อลดการทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ
รูปแบบการเย็บ เลือกใช้ตามความถนัดของแพทย์ผู้ผ่าตัด และเนื้อเยื่อที่เย็บ โดยหากเลือกเย็บแบบ interrupt ควรเลือกวัสดุขนาดเล็กกว่าการเย็บแบบ continuous 1เบอร์ เพื่อลดการเกิด suture reaction นอกจากนี้การมัดปมไม่ควรแน่นจนเกินไป เพื่อลดการเกิดการขัดขวางการไหลเวียนเลือดที่ขอบแผล
บทความการเลือกวัสดุเย็บ อ่านกดที่ลิงค์ https://www.bec-vet.com/th/Blogs/Detail/76-Sutures-and-Suture-selection
หลังการผ่าตัด
- จำกัดบริเวณสัตว์ป่วย
- ใส่อุปกรณ์ป้องกันแผลผ่าตัด เช่น ปลอกคอกันเลีย
- คอยตรวจดูความเรียบร้อยของแผลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
การแก้ไขภาวะแผลแตก ต้องมีการประเมินความรุนแรง หากในกรณีมีอวัยวะภายในออกมา ต้องผ่าตัดแก้ไขทันที แต่หากแตกเฉพาะบริเวณผิวหนัง อาจพิจารณารักษาในแนวทางการรักษาแผลเปิดได้
...................................
บทความโดย
สพ.ญ.อภิลักษณ์ มหัธนันท์
..................................
#เครื่องมือสัตวแพทย์ #คลินิกสัตวแพทย์ #โรงพยาบาลสัตว์ #อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง #อุปกรณ์สัตวแพทย์ #BEC #becvet #BECpremium #ไหมเย็บ #ไหมเย็บแผลสัตว์เลี้ยง #แผลสัตว์เลี้ยงแตก #แผลผ่าตัด #suture #SutureAnimal
Share this entry